10 ข้อควรระวังสำหรับคนท้องในการออกกำลังกาย

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/10 ข้อควรระวังสำหรับคนท้องในการออกกำลังกาย
10 ข้อควรระวังสำหรับคนท้องในการออกกำลังกาย

การออกกำลังกายในหญิงตั้งครรภ์นั้นเป็นสิ่งที่ดีก็จริงแต่ก็มีข้อควรระมัดระวังมากกว่าคนธรรมดาทั่วไป เนื่องจากอาจเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นก่อนออกกำลังกายจึงควรมีการศึกษาถึงข้อควรระวังต่างๆ ก่อน

1. ไม่ควรออกกำลังกายในขณะที่ท้องว่าง

กฎของหนึ่งของการว่ายน้ำคือไม่ควรลงสระภายหลังกินอาหารทันที ถ้าคุณยังไม่ได้กินอาหาร ควรจะกินอาหารว่างและดื่มน้ำสักแก้ว 15-30 นาที ก่อนเริ่มออกกำลังกาย

 

2. เลือกเครื่องแต่งกายให้เหมาะสมกับกิจกรรม

เสื้อผ้าที่หลวมเกินไปหรือคับเกินไปทำให้การเคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก ควรเลือกใช้เสื้อผ้าที่ทำจากฝ้ายจะช่วยให้การระบายอากาศดี ใส่รองเท้าผ้าใบที่กระชับพอดีจะช่วยให้ข้อเท้าเคลื่อนไหวได้ดี และปกป้องข้อต่อที่เท้าได้ดี

 

3. เลือกสถานที่ที่มีพื้นผิวที่เหมาะสม

ถ้าเป็นกายบริหารในร่มพื้นที่ใช้ควรเป็นพื้นเรียบที่ไม่ลื่น เช่น พื้นหินอ่อนที่ขัดเงาไม่เหมาะสมในการออกกำลังกาย แต่จะลดความลื่นด้วยการปูเสื่อหรือพรม พื้นภายนอกอาคารควรเป็นพื้นที่สะอาด และไม่อยู่ในระหว่างก่อสร้างที่มีสิ่งกีดขวาง เกะกะทางเดินมากมาย

 

4. ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหมมากเกินไปจนเกิดอาการเหนื่อยล้า

เพราะในขณะนั้นร่างกายจะขับสารเคมีอย่างที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ควรตรวจสอบการออกกำลังกายของคุณด้วยตนเองว่าสิ่งที่คุณกำลังทำนั้นเหมาะเพียงใด หรือทำให้กล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดอาการเกร็งมากเกินไป ถ้ามีการหายใจหอบ แสดงว่าคุณกำลังงออกกำลังมากเกินไป ควรจะหยุดหรือพยายามทำให้ช้า กายบริหารที่ดีจะทำให้ชีพจรเต้น 100 ครั้งต่อนาที หายใจเร็วขึ้นเล็กน้อย และมีเหงื่อออกมาก

 

5. รู้ว่าเมื่อใดควรจะหยุด

ร่างกายของคุณจะส่งสัญญาณเตือนเมื่อเกิดอาการเหนื่อยล้า เช่น การเจ็บปวด เป็นตะคริว หรือมีอาการวิงเวียนศีรษะ ตาพร่า หัวใจเต้นเร็ว เต้นไม่เป็นจังหวะ อาจจะมีอาการถุงน้ำรั่ว และเลือดออกทางช่องคลอด ในอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป จะพบว่าเด็กดิ้นน้อยลงหรือหยุดดิ้น ทันทีที่มีอาการเหล่านี้คุณควรหยุดการออกกำลังกาย และพักผ่อนสักครู่ อาการบางอย่างจะหายไป แต่อาการเลือดออกและถุงน้ำรั่วนั้นคุณจะต้องปรึกษาแพทย์ทันที

 

ข้อห้ามคนท้อง ในการออกกำลังกาย
ข้อห้ามคนท้อง ในการออกกำลังกาย

 

6. พยายามอยู่ในที่เย็น

หลีกเหลี่ยงการออกกำลังกายในอากาศที่ร้อนจัดหรือที่อบอ้าว อากาศไม่ถ่ายเท หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรอบตัวด้วยไอน้ำร้อน หรืออาบน้ำร้อน การทำให้อุณหภูมิร่างกายของหญิงตั้งครรภ์สูงขึ้น 1-2 องศาฟาเรนไฮต์ จะทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงมดลูกลดลง

 

7. ออกกำลังกายด้วยความระมัดระวัง

การออกกำลังหรือท่ากายบริหารควรระวังการเสียสมดุลของร่างกาย ที่จะทำให้ล้มลงได้ โดยเฉพาะในขณะที่ตั้งครรภ์ที่มดลูกใหญ่ยื่นออกไปข้างหน้า จึงควรระวังการเคลื่อนไหวเร็วๆ หรือการเปลี่ยนอิริยาบถกะทันหัน

 

8. ระวังเกิดการบาดเจ็บของอวัยวะที่ออกกำลัง

เช่น กล้ามเนื้อยอก ข้อต่อหลุด หรือเกิดอาการเจ็บปวดของอวัยวะ จากการใช้งานผิดท่าทาง

 

9. ระวังหลังของคุณและไม่พยายามเกร็งนิ้วเท้านานเกินไป

เมื่อคุณตั้งครรภ์ได้ 4 เดือน ไม่ควรใช้ท่ากายบริหารที่นอนหงายราบ เพราะจะทำให้เกิดการกดทับของเส้นเลือดจากมดลูกที่ใหญ่ การเกร็งนิ้วเท้านานๆ จะทำให้เกิดตะคริวของกล้ามเนื้อขา ควรออกกำลังด้วยการกระดกข้อเท้าแทน

 

10. เลิกออกกำลังกายในไตรมาสที่สาม

ในระยะสามเดือนสุดท้ายเป็นเวลาที่คุณควรจะพักผ่อนให้มาก และงดการออกกำลังกายที่ใช้แรงมาก ควรใช้การเดินเล่นรอบๆ บ้านเป็นการออกกำลังกายแทน

 

– ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก : สสส –