ไขความลับ การเลือกของเล่น และเหตุผลที่เด็กชายกับเด็กหญิง ชอบแตกต่างกัน

หน้าแรก/พัฒนาการเด็ก/ไขความลับ การเลือกของเล่น และเหตุผลที่เด็กชายกับเด็กหญิง ชอบแตกต่างกัน
ไขความลับ การเลือกของเล่น และเหตุผลที่เด็กชายกับเด็กหญิง ชอบแตกต่างกัน

เคยสงสัยมั้ยคะว่า ทำไมเด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิงถึงมีความชอบของเล่นที่แตกต่างกันโดยถ้ามีของเล่นหลายๆ ชนิดให้เลือกเด็กผู้หญิงมักเลือกตุ๊กตา ชุดเครื่องครัว ในขณะที่เด็กผู้ชายจะเลือกรถ หุ่นยนต์ ลูกบอล

เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูเพียงอย่างเดียว แต่เชื่อมโยงไปถึงรหัสพันธุกรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่มนุษย์ยุคโบราณเลยล่ะค่ะ

ความลับ การเลือกของเล่น ของเด็กๆ
เชื่อมั้ยคะว่าในวัยเพียงแค่ 3 เดือน ที่หลายๆ คนคิดว่าเด็กๆ ยังไม่น่าจะรู้ว่าของสิ่งไหนเหมาะกับผู้ชาย สิ่งไหนเหมาะกับผู้หญิง แต่พวกเขารู้ค่ะ จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทกซัสเอแอนด์เอ็ม (Texas A&M University-TAMU) สหรัฐอเมริกา ที่นำเด็กวัย 3-8 เดือนมาทดสอบความสนใจ โดยการนำตุ๊กตาและรถบรรทุกของเล่นมาให้เด็กๆ ดู จากนั้นคอยสังเกตว่าเด็กๆ จะให้ความสนใจกับของเล่นใดมากกว่ากัน ผลปรากฏว่า เด็กผู้หญิงจะให้ความสนใจมองไปที่ตุ๊กตาบ่อยกว่าและนานกว่ารถบรรทุก
นี่เป็นข้อยืนยันว่า ความแตกต่างทางชีวภาพมีผลต่อการเลือกของเล่นของเด็ก ผลการวิจัยนี้ตรงกับทฤษฎีที่ว่า ความชอบของเด็กๆ นั้นเชื่อมโยงกับพันธุกรรม โดยเด็กผู้ชายมักชอบของเล่นที่มีเสียง มีล้อ ของที่เคลื่อนที่ได้ กระแทก ทุบได้ ซึ่งเชื่อมโยงกับทักษะในการล่าสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหารของมนุษย์ยุคโบราณ ส่วนเด็กผู้หญิงก็มักจะชอบเล่นของที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลลูกและครอบครัว อย่างตุ๊กตา ชุดเครื่องครัว

เหตุผลของความชอบที่แตกต่าง
นอกจากนี้ การเลี้ยงดูก็มีส่วนที่ทำให้เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงมีความชอบต่างกัน เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีเล่นกับลูกชายลูกสาวไม่เหมือนกัน โดยคุณพ่อมักจะเล่นกับลูกสาวอย่างอ่อนโยน นุ่มนวลในขณะที่เวลาเล่นกับลูกชายจะโลดโผนกว่า ส่วนเรื่องการเลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่จะดูแลเอาใจใส่และพูดคุยกับลูกสาวมากกว่า ส่วนลูกชายจะถูกสอนให้รู้จักอดทน เก็บซ่อนความเจ็บปวด ความกลัวเอาไว้ทำให้ผู้ชายและผู้หญิงเติบโตมาต่างกัน โดยผู้หญิงจะมีทักษะทางด้านสังคม (Social Sense) อยู่มาก ในขณะที่ผู้ชายจะมีความเป็นตัวของตัวเอง (Autonomous Sense) สูง

ความชอบที่เปลี่ยนไปตามวัย
แม้เด็กๆ จะมีแนวโน้มที่จะเลือกของเล่นตามเพศของเขา แต่ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาการเด็ก แนะนำว่า ไม่ควรยึดติดกับการเลือกของเล่นที่ตรงตามเพศของลูกมากนัก เพราะนอกจากการเลือกตามสัญชาตญาณแล้ว การเล่นของเด็กก็แตกต่างไปตามวัยด้วย โดยนักจิตวิทยาได้แบ่งพัฒนาการด้านการเล่นของเด็กตามช่วงวัยไว้ดังนี้
1. วัยแรกเกิด-1 ปี เป็นช่วงเวลาของการเล่นอยู่กับตัวเอง เขาจะทำความคุ้นเคยกับสภาวะรอบตัวผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5การเล่นจึงมักเป็นการใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกายสัมผัส จับ ชิม ดมสิ่งต่างๆ
2. วัย1-2 ปี เด็กจะพัฒนาทักษะการเล่นจากการเฝ้ามองคนอื่น แต่เขาจะยังไม่สามารถเล่นกับใครได้นาน เพราะยังยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางอยู่
3. วัย 2-3 ปี เด็กจะเริ่มสนใจคนอื่น อยากเล่นกับเพื่อนๆ วัยเดียวกัน แต่เล่นได้ไม่นาน เพราะยังไม่รู้จักการผลัดกันเล่นของเล่นที่แต่ละคนมี
4. วัย 3-6 ปี เด็กๆ จะเริ่มรู้จักการแบ่งปัน และสามารถเล่นกับเพื่อนในกลุ่มย่อยๆ ได้
5. วัย 6-12 ปี เด็กๆ จะรู้จักกฎ กติกามากขึ้น จนสามารถวางแผนการเล่นเป็นทีมกับเพื่อนๆ ได้ รู้จักการสร้างบทบาทการเล่น รู้แพ้ รู้ชนะ

การสนับสนุนให้เด็กๆ ได้เล่นในสิ่งที่เขาอยากเล่น และเล่นร่วมกับผู้อื่นอย่างสอดคล้องกับพัฒนาการตามวัยนอกจากจะได้ความสนุกแล้วยังช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้เรื่องการปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้อีกด้วย

ผู้เขียน : ชนาวรรณ์
นักเขียนนิทาน เรื่องสั้น บทความสุขภาพ-พัฒนาการเด็ก