เตรียมพร้อมรับมือ ความเจ็บป่วย ที่มักเกิดขึ้นกับลูก วัยแรกเข้าอนุบาล

หน้าแรก/สุขภาพเด็ก/เตรียมพร้อมรับมือ ความเจ็บป่วย ที่มักเกิดขึ้นกับลูก วัยแรกเข้าอนุบาล
เตรียมพร้อมรับมือ ความเจ็บป่วย ที่มักเกิดขึ้นกับลูก วัยแรกเข้าอนุบาล

ช่วงนี้เด็กวัยอนุบาลหลายๆ คนเริ่มเข้าเรียนซัมเมอร์เพื่อปรับพื้นฐานก่อนเปิดเทอมจริง นอกจากเรื่องการปรับตัวเข้าสู่สังคมใหม่ๆ ซึ่งช่วงแรกๆ ลูกอาจร้องไห้งอแงไม่ยอมแยกจากคุณแม่แล้ว อีกปัญหาหนึ่งก็คือ การเจ็บป่วย ซึ่งเด็กวัยอนุบาลจะป่วยง่ายกว่าเด็กวัยอื่นๆ

เนื่องจากก่อนหน้านี้เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่แต่ในบ้านจึงไม่ค่อยได้สัมผัสกับเชื้อโรค พอออกมาอยู่ในสถานที่ที่กว้างขึ้นและมีผู้คนมากขึ้นจึงมีโอกาสติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะเชื้อหวัด และเชื้อโรคที่ทำให้ท้องเสีย

ดูแลเบื้องต้นก่อนไปหาหมอ

กรณีที่ลูกเป็นหวัด เวลาไข้ขึ้นจะมีเหงื่อออกมาก ควรให้เขาดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อทดแทนน้ำที่เสียไปทางเหงื่อ หมั่นเช็ดตัวให้เขาเพื่อลดความร้อนในร่างกาย เด็กหลายๆ คนถึงจะป่วยแต่ก็ยังอยากเล่นอยู่ ไม่จำเป็นต้องบังคับให้เขานอนเฉยๆ หรอกค่ะ ปล่อยให้ลูกเล่นได้ แต่ควรให้หยุดเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้เพื่อนๆ ที่โรงเรียนติดหวัด

ส่วนอาการท้องเสียก็เป็นอาการป่วยที่พบบ่อยในเด็กอนุบาล ที่มักใช้มือหยิบสิ่งของต่างๆ รวมทั้งอาหารเข้าปาก ทำให้เชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ถ้าอาการท้องเสียไม่รุนแรง คุณแม่สามารถช่วยเหลือลูกได้ในเบื้องต้น ด้วยการให้ลูกดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ

แต่หากลูกมีอาการไม่ดีขึ้น ไม่ว่าจะ ท้องเสียรุนแรง มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน ควรพาไปพบแพทย์ โดยคุณแม่ควรจดบันทึกข้อมูลต่างๆ เช่น ระยะเวลาที่ลูกป่วย อาการที่เป็น ยาที่ให้ลูกกิน การแพ้อาหาร แพ้ยา เพื่อที่จะให้รายละเอียดกับคุณหมอได้อย่างครบถ้วน

สร้างทัศนคติที่ดีต่อการไปหาหมอ

เด็กหลายๆ คนมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการไปหาหมอ ซึ่งอาจเกิดจากการที่เขาเคยเจ็บตัวจากการถูกฉีดยา กลัวการถูกพ่นยา ล้างจมูก ฯลฯ ในวัยอนุบาลนี้ลูกเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น แถมยังเป็นวัยที่พวกเขามีจินตนาการสูง การเล่นสมมุติเป็นคุณหมอกับคนไข้กับลูกบ่อยๆ จะช่วยให้การพาลูกไปหาหมอเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น โดยคุณแม่ไม่ควรบอกลูกว่าการฉีดยาไม่เจ็บ ควรบอกลูกไปตามจริงว่า ลูกจะต้องเจ็บนิดหน่อย แต่จะทำให้ลูกหายจากการเจ็บป่วย หรือช่วยให้ลูกแข็งแรงในกรณีที่ไปฉีดวัคซีน เวลาไปหาหมอควรนำของเล่นชิ้นโปรดของลูกไปด้วย เพื่อเพิ่มความอุ่นใจให้ลูกค่ะ โดยเฉพาะหากต้องแอดมิดนอนในโรงพยาบาลของคู่กายนี้จะช่วยให้ลูกหลับได้ดีขึ้น        

ป้อนยาแบบคุณแม่มือโปร

หลังไปพบแพทย์การให้ลูกกินยาเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากการป้อนยาให้ตรงตามเวลาแล้ว ปริมาณยาที่ลูกได้รับต้องถูกต้องตามที่คุณหมอระบุไว้ด้วยค่ะ คุณแม่จึงควรทำความรู้จักกับอุปกรณ์ในการป้อนยาชนิดต่างๆ และวิธีการใช้ที่ถูกต้องด้วยค่ะ 

         – ช้อนป้อนยา ช้อนป้อนยามักมาในกล่องยา แต่ละยี่ห้ออาจมีขีดบอกปริมาตรแตกต่างกันออกไป จึงควรอ่านฉลากยาและสังเกตขีดที่ช้อนก่อนทุกครั้งกรณีที่ลูกไม่ยอมกินยาจากช้อนคุณแม่สามารถใช้กระบอกฉีดยาพลาสติกดูดยาป้อนให้ลูกได้ค่ะ

            – กระบอกฉีดยาพลาสติก มีหลายขนาด สามารถป้อนยาได้ตั้งแต่ 1-10 ซีซี วิธีการป้อนคือเมื่อคุณแม่ดูดยาได้ตามที่ต้องการแล้ว ให้อุ้มลูกไว้ในวงแขน ค่อยๆ ฉีดยาในหลอดเข้าบริเวณกระพุ้งแก้มด้านใดด้านหนึ่งของลูก ไม่ควรฉีดเข้าตรงกลางปากเพราะลูกจะสำลักยาได้ง่าย ค่อยๆ ฉีดป้อนช้าๆ จนกว่าลูกจะกลืนยาหมด         

            – หลอดหยดยา การป้อนยาลูกด้วยหลอดหยดยา ต้องบีบที่หัวยางด้านบนของหลอดหยดยาเพื่อไล่อากาศออกก่อน แล้วจึงจุ่มหลอดหยดลงในยา ค่อยๆ ปล่อยให้ยาถูกดูดขึ้นมาจนได้ปริมาตรที่กำหนด การป้อนก็ใช้วิธีเดียวกับการป้อนยาด้วยกระบอกฉีดยาคือ ค่อยๆ หยดยาในหลอดเข้าบริเวณกระพุ้งแก้มด้านใดด้านหนึ่งของลูกช้าๆ

            – ถ้วยตวงยา ยาน้ำสำหรับเด็กมักมีถ้วยตวงยามาให้ในกล่องยา ก่อนให้เด็กดื่มควรตรวจสอบปริมาตรยาให้พอดีกับที่ฉลากยาระบุไว้ เด็กวัยอนุบาลนี้อาจยอมดื่มยาจากถ้วยโดยตรงได้ แต่ยาบางชนิดก็มีรสชาติขมมาก การเติมน้ำหรือน้ำหวานลงไปจะช่วยเจือจางรสขมได้ แต่ไม่ควรผสมยากับนม

เมื่อลูกหายป่วย

เมื่อลูกหายป่วยแล้ว คุณแม่สามารถป้องกันการเจ็บป่วยครั้งต่อๆ ไปได้ ด้วยการสร้างสุขนิสัยที่ดีในการรักษาความสะอาดแก่ลูก เพื่อลดโอกาสการสัมผัสเชื้อโรค ด้วยวิธีง่ายๆ คือ หมั่นล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ไม่นำสิ่งของต่างๆ เข้าปาก ไม่กัดเล็บ และฝึกให้เขารู้จักใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปาก-จมูก เวลาไอหรือจามเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น

ผู้เขียน : ชนาวรรณ์
นักเขียนนิทาน เรื่องสั้น บทความสุขภาพ-พัฒนาการเด็ก