7 วิธี พาเด็กเดินทางไกล ให้ปลอดภัย และนั่งอยู่ในรถอย่างมีความสุข

หน้าแรก/พัฒนาการเด็ก/7 วิธี พาเด็กเดินทางไกล ให้ปลอดภัย และนั่งอยู่ในรถอย่างมีความสุข
7 วิธี พาเด็กเดินทางไกล ให้ปลอดภัย และนั่งอยู่ในรถอย่างมีความสุข

พ่อแม่ทุกคนคงเคยผ่านเหตุการณ์ต่อไปนี้มาบ้างแล้ว เวลาที่กำลังนั่งรถไปเที่ยวต่างจังหวัดกับครอบครัว หรือ พาเด็กเดินทางไกล ขับรถไปร้านอาหารนอกเมือง แล้วลูกน้อยของคุณก็เกิดงอแงขึ้นมาเสียอย่างนั้น ทั้งร้องไห้และไม่ยอมนั่งนิ่งๆ แต่ลองคิดดูว่าขนาดผู้ใหญ่ยังรู้สึกเหนื่อยล้าเวลานั่งอยู่ในรถเป็นชั่วโมง ก็คงจะเข้าใจความรู้สึกนั้นได้ แต่เด็กน้อยที่กำลังเกรี้ยวกราดก็อาจจะรบกวนสมาธิของผู้ขับขี่ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้

การทนฟังเสียงเด็กร้องอาจทำให้หงุดหงิด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องรีบรับมือทันที เด็กๆ อาจจะแค่เบื่อ หิว หรืออยากลงจากรถไปวิ่งเล่น วันนี้มี 7 วิธี พาเด็กเดินทางไกล ที่จะทำให้ลูกน้อยของคุณปลอดภัย และนั่งอยู่ในรถอย่างมีความสุข

1. ซื้อเก้าอี้นิรภัยสำหรับเด็ก

เข็มขัดนิรภัยและถุงลมนิรภัยนั้นออกแบบมาสำหรับผู้โดยสารที่สูงกว่า 145 เซนติเมตร และหนักกว่า 36 กิโลกรัม ดังนั้นเด็กทารกและเด็กเล็กควรให้นั่งรัดเข็มขัดอย่างปลอดภัยที่เบาะหลัง บนเก้าอี้นิรภัยสำหรับเด็กที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับอายุ ส่วนสูง และน้ำหนักของเด็ก

ถึงแม้อัตราการใช้เก้าอี้นิรภัยจะเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีการรณรงค์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง จากผลการสำรวจร้อยละ 77 ของพ่อแม่ในประเทศจีนที่ขับรถ ใช้เก้าอี้นิรภัยสม่ำเสมอ ในประเทศเกาหลีใต้ พ่อแม่มากกว่า 1 ใน 3 ยอมให้ลูกนั่งตักผู้ใหญ่อีกคนที่โดยสารไปด้วยขณะขับรถ สำหรับประเทศไทย ร้อยละ 63 ของพ่อแม่ที่มีลูกเล็กใช้เก้าอี้นิรภัย ส่วนที่เหลือก็ให้เด็กนั่งตักผู้ใหญ่ แต่แบบนี้ไม่ปลอดภัยแน่นอน หากต้องเบรครถกะทันหัน เพราะแรงกระแทกจากการเหยียบเบรคอาจเร่งสูงถึงระดับ 4G หรือ 128.8 ฟุตต่อวินาที ดังนั้นการอุ้มเด็กนั่งตักจึงไม่สามารถป้องกันอันตรายได้

“เด็กควรจะใช้เก้าอี้นิรภัยที่เหมาะสม ตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มโดยสารรถ แล้วเด็กจะชินกับการนั่งเก้าอี้นิรภัยระหว่างอยู่บนรถไปเอง”

พาเด็กเดินทางไกล

2. หมั่นเปลี่ยนเก้าอี้นิรภัย

เด็กๆ โตเร็ว พ่อแม่จึงต้องเตรียมซื้อเก้าอี้และเบาะนิรภัยใหม่ให้เหมาะกับอายุ ความสูง และน้ำหนักของลูก ตลอดช่วงวัยเด็ก ขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังข้อผิดพลาดบางเรื่อง เช่น การกลับที่นั่งนิรภัยให้หันไปด้านหน้า หรือใช้เบาะนิรภัยเร็วเกินไป

3. ติดตั้งเก้าอี้นิรภัยให้ถูกต้อง

รายงานฉบับหนึ่งแสดงให้เห็นว่า มีการติดตั้งเก้าอี้นิรภัยผิดวิธีถึงร้อยละ 46 พ่อแม่จะต้องตรวจเช็คให้แน่ใจว่า ติดตั้งเก้าอี้นิรภัยอย่างถูกต้องและอ่านคู่มือการใช้เก้าอี้นิรภัยรวมถึงคู่มือการใช้รถอย่างละเอียดถี่ถ้วน ถุงลมนิรภัยอาจเป็นอันตรายต่อเด็กถึงชีวิต ดังนั้นจึงห้ามติดตั้งเก้าอี้นิรภัยแบบหันหลังใกล้กับถุงลมนิรภัยที่ยังใช้การได้ โดยปกติแล้ว เก้าอี้นิรภัยจะมีเข็มขัดนิรภัยติดมาด้วย แต่เพื่อการป้องกันอีกขั้น ให้เลือกซื้อเก้าอี้นิรภัยที่มีอุปกรณ์ติดตั้งตามมาตรฐาน ISOFIX เก้าอี้นิรภัยดังกล่าวจะสามารถล็อคติดกับเบาะรถได้อย่างพอดี

4. เป็นแบบอย่างที่ดี

การตระหนักถึงความปลอดภัยนั้นเริ่มต้นที่ผู้ดูแลเด็ก ดังนั้นพ่อแม่จึงจำเป็นจะต้องเป็นแบบอย่างที่ถูกต้องให้กับเด็กเอง ถึงแม้ทุกวันนี้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปมากแล้ว เข็มขัดนิรภัยก็ยังเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่ดีที่สุดเมื่อเกิดอุบัติเหตุ พ่อแม่จึงควรรัดเข็มขัดนิรภัยเป็นตัวอย่างให้แก่ลูกๆ ในช่วงเวลาที่ พาเด็กเดินทางไกล อยู่เสมอ

5. ตั้งกฎระเบียบบนรถ

พ่อแม่ควรตั้งกฎข้อบังคับในรถให้ลูกปฏิบัติตาม สำหรับเด็กที่โตพอจะเข้าใจได้แล้ว กฎพื้นฐานสำหรับครอบครัวก็คือ ให้ขออนุญาตก่อน เมื่อต้องการเปิดหน้าต่างหรือเปลี่ยนเพลง

6. ตั้งกฎระเบียบนอกรถ

เมื่ออยู่ด้านนอกรถ เด็กอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากรถได้ ดังนั้นจึงไม่ควรละสายตาจากเด็กเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีรถ คนขับรถที่กำลังจอดหรือถอย อาจมองไม่เห็นเด็กตัวเล็กๆ ได้ ให้จูงมือเด็กเมื่ออยู่ข้างนอก บนฟุตบาท และบริเวณลานจอดรถ

7. ดึงดูดความสนใจให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย

นำหนังสือหรือของเล่นที่เด็กชอบขึ้นรถไปด้วย เพื่อให้เด็กไม่เบื่อและป้องกันการรบกวนสมาธิคนขับ ขนมและเครื่องดื่มก็สามารถช่วยให้เด็กสงบลง และอย่าลืมแวะเข้าห้องน้ำ เด็กอาจจะบ่นว่าหนาวหรือร้อนเกินไป จึงควรหมั่นตรวจสอบอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่บริเวณเบาะหลัง และห้ามทิ้งเด็กไว้บนรถโดยลำพังเด็ดขาด อุณภูมิที่สูงเกินไปเพียงชั่วครู่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ความร้อนอาจทำเกิดอาการเจ็บป่วยร้ายแรงต่างๆ รวมไปถึงการกระทบกระเทือนทางสมอง โดยเฉพาะเด็กเล็กจะมีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ

บางครั้งถึงจะทำตามวิธีเหล่านี้แล้ว เด็กก็อาจจะยังบ่นหรือดิ้นอยู่ที่เบาะหลัง คุณพ่อคุณแม่ควรจะใจเย็นและหาที่ปลอดภัย เพื่อจอดรถพักหากจำเป็น และให้ระมัดระวังเวลาขับขี่บนท้องถนนอยู่เสมอ เพราะเจ้าตัวน้อยบนเบาะหลังกำลังเฝ้ามองคุณซึ่งจะส่งผลถึงพฤติกรรมการขับขี่ของลูกเมื่อเติบใหญ่ในวันข้างหน้า

ข้อมูลจาก ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี