4 สาเหตุที่ทำให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียน พร้อมวิธีแก้

หน้าแรก/พัฒนาการเด็ก/4 สาเหตุที่ทำให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียน พร้อมวิธีแก้
4 สาเหตุที่ทำให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียน พร้อมวิธีแก้

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายท่านต้องเคยเจอกับปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียน โดยเฉพาะช่วงเปิดภาคการศึกษาใหม่ๆ อาจจะเนื่องมาจากภาวะที่ไม่คุ้นชินของลูกที่ต้องเปลี่ยนไป เช่น การต้องตื่นเช้า การเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต ความวิตกกังวล การจะแก้ปัญหาใดๆ นั้น ถ้าเราไม่ทราบสาเหตุก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุด สำหรับสาเหตุของเด็กไม่อยากไปโรงเรียน พอจะประมวลได้เป็น 3 ข้อใหญ่ๆ ดังนี้

 

  • 1. สาเหตุจากตัวเด็กเอง

-เด็กตั้งแต่เด็กแรกคลอดเรื่อยมาจนถึงวัยประมาณ 3 ปี สังคมแรกคือบ้าน ซึ่งมีแต่พ่อแม่ญาติพี่น้องเท่านั้น เด็กยังไม่คุ้นเคยกับสังคมนอกบ้านเท่าใดนัก แต่พอเข้าระยะ 3 ขวบเศษ ๆ จะเป็นวัยที่เด็กส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และในตัวจังหวัดใหญ่ ๆ เริ่มที่จะเข้าโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนคืออะไร หน้าตาเป็นอย่างไร ครูเป็นอย่างไร เด็กไม่เคยรู้จักมักคุ้นมาก่อน และถ้าบางครอบครัวได้เคยใช้โรงเรียนเป็นเครื่องมือในการขู่เด็กด้วยว่า เช่นระวังนะ จะส่งให้ครูตี” “ดื้อนัก เดี๋ยวจับส่งโรงเรียนเสียเลย” ถ้าได้มีการพูดถึงโรงเรียนเป็นเรื่องน่ากลัวดังกล่าวแล้ว ก็จะทำให้เด็กวาดภาพเอาว่า โรงเรียนเป็นสิ่งน่ากลัว เป็นสิ่งไม่น่าเข้าใกล้ ผลจะทำให้เด็กลังเล กังวล หวั่นใจในการที่จะต้องไปโรงเรียนนอกจากนี้ธรรมชาติของเด็กวัยนี้ (ประมาณ 3-4 ปี) เป็นวัยที่มีความกังวล หวั่นใจ เป็นอย่างมากต่อการที่ต้องแยกจาก คุณพ่อ คุณแม่หรือคนที่คุ้นเคย แม้ว่าการไปโรงเรียนจะเป็นการแยกจาก คุณพ่อ คุณแม่ชั่วคราวก็ตาม แต่เด็กก็เกิดความกลัวกังวล ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นการกลัวต่อการที่ต้องแยกจากคุณพ่อ คุณแม่ต่างหาก

ไม่เพียงแต่เด็กเล็กเท่านั้นทีไม่อยากไปโรงเรียน ในเด็กที่โตขึ้นมาอีกหน่อย คือ ช่วงอายุ 6-7 ปี ก็พบบ่อยที่ไม่อยากไปโรงเรียน เพราะเป็นช่วงที่เด็กต้องย้ายที่เรียนใหม่ คือย้ายจากโรงเรียนอนุบาลมาเข้าโรงเรียนชั้นประถมศึกษา การย้ายที่เรียนใหม่ทำให้เด็กบางคนปรับตัวลำบาก เกิดความกังวลจนไม่อยากไปโรงเรียน เด็กที่เริ่มเข้าระยะวัยรุ่นตอนต้นซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างรวดเร็ว อารมณ์ผันแปรง่าย อ่อนไหวหรือหวั่นไหวต่อการล้อเลียนของเพื่อน หวั่นไหวต่อการเปรียบเทียบไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียน รูปร่างหน้าตา เหล่านี้อาจทำให้เกิดความกังวลอย่างมากจนไม่อยากไปโรงเรียน มีจำนวนน้อยของเด็กโตที่มีอาการหวั่นวิตกง่าย กังวลง่าย ซึ่งจิตแพทย์เรียกว่า เป็นโรคประสาทวิตกกังวล เด็กพวกนี้มักไม่อยากไปโรงเรียนเช่นกัน

 

  • 2. สาเหตุจากครอบครัว

-ในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ไม่มีความปรองดองกัน หรือมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ หรือมีการเจ็บป่วยภายในครอบครัว สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้ครอบครัวอยู่ในสภาวะไม่สมดุลมีความวุ่นวายวิตกกังวลเกิดขึ้นภายในครอบครัว และเป็นความจริงที่ว่า คุณพ่อคุณแม่ที่มีความวิตกกังวลมีเรื่องกลุ้มใจ มีเรื่องเศร้าหมองอยู่ในใจแล้วความรู้สึกต่างๆ เหล่านี้จะถ่ายทอดไปยังเด็กที่อยู่ในความดูแลได้ ดังนั้น เด็กเหล่านี้ก็จะรู้สึกวิตกกังวล กลุ้มใจ และมีความเศร้าอยู่ในอารมณ์ด้วยเช่นกัน ผลทำให้ไม่มีสติปัญญา หรือกำลังใจที่จะเรียนรู้อะไรทั้งสิ้น มีความเป็นห่วงแต่ว่า คุณพ่อคุณแม่เขาเป็นอย่างไร เหตุการณ์ในบ้านเป็นอย่างไร ดังนั้นเด็กเหล่านี้จะไม่อยากไปโรงเรียน แต่อยากอยู่บ้าน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้นที่บ้านของเขา

มีตัวอย่างเด็กชายอายุ 10 ปี เป็นเด็กที่เรียนหนังสือดีมาก แต่ไม่อยากไปโรงเรียนจากการซักประวัติพบว่า คุณแม่ของแกป่วยเป็นโรคหัวใจ มีอาการปวดเจ็บหน้าอกด้านซ้ายบ่อยๆ และมักพูดกับลูกชายว่า “แม่คงต้องตาย” เด็กชายคนนี้กังวลมากไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากไปไหนๆ ทั้งสิ้น อยากอยู่ใกล้ๆ คุณแม่ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่ของเขาไม่เป็นอะไร เพราะการไปที่ไหนก็ตามที่ต้องห่างจากคุณแม่ของเขา จะทำให้เขาคิดกังวลอยู่เสมอว่า ขณะนี้ไม่รู้ว่าคุณแม่จะเป็นอะไรบ้าง

 

ลูกไม่อยากไปโรงเรียนเกิดจากสาเหตุใด

 

  • 3. สาเหตุจากโรงเรียน

-ปัญหาด้านการเรียนเป็นปัญหาที่สำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน เด็กมีสติปัญญาช้า เรียนไม่ดี เปรียบเทียบกับเพื่อนๆ ไม่ได้ เด็กจะกังวลและไม่อยากไปโรงเรียน สุขภาพจิตของคุณครูก็มีความสำคัญมากเช่นกัน ซึ่งปกติแล้วคุณครูจะเข้าใจจิตวิทยาของเด็กดีตามสมควร แต่ถ้ามีสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้คุณครูขาดความสุขทางใจ เช่น ปัญหาในครอบครัวของคุณครูเอง ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาการเจ็บป่วย ปัญหาที่ทำงานของครู คุณครูจะมีความไม่สบายใจและการสอนนักเรียนจะเป็นไปในลักษณะหงุดหงิด โกรธง่าย ทำโทษนักเรียนง่าย เด็กนักเรียนที่เรียนกับคุณครูที่กำลังมีเรื่องไม่สบายใจ เด็กย่อมไม่อยากเรียนหนังสือ

สาเหตุจากโรงเรียนบางทีก็เป็นเรื่องอื่นๆ เช่น เพื่อนล้อเลียน ในบางแห่งเด็กต้องเรียนว่ายน้ำ มีเด็กบางคนรู้สึกอาย ไม่อยากใส่ชุดว่ายน้ำ วันไหนก็ตามมีชั่วโมงเรียนว่ายน้ำ เด็กจะไม่ยอมไปโรงเรียน เป็นต้น บางครั้งระหว่างทางไปโรงเรียนอาจมีกลุ่มเด็กเกเรคอยดักข่มขู่-เด็กนักเรียน โดยข่มขู่เรื่องของสตางค์ ข่มขู่จะทำร้าย หรือข่มขู่ลวนลามเรื่องเพศเด็กจะกังวลมาก และไม่ยอมไปโรงเรียน

 

  • 4. สาเหตุอื่นๆ

-มีบ่อยครั้งที่สาเหตุเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้เด็กรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน เช่น หลังจากเจ็บป่วยเมื่อเด็กได้หยุดโรงเรียนหนึ่งวันหรือสองวันก็ตาม เมื่ออาการต่างๆ ดีขึ้นแล้ว เด็กจะขอหยุดต่ออีก หรือหลังจากหยุดเทอม หรือคุณพ่อคุณแม่พักร้อนแล้วพาลูกไปด้วย เมื่อครบวันที่ต้องไปโรงเรียน ก็พบว่าเด็กพวกนี้ไม่อยากไปโรงเรียน

    • อาการ

เด็กที่ไม่อยากไปโรงเรียนแล้วแสดงออกมาตรงๆ เช่น ร้องงอแง ทุกเช้าของวันเปิดเรียน บางคนตื่นนอนแต่เช้าแต่จะพูดแต่คำว่า “หนูไม่อยากไปโรงเรียนๆๆๆ” ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็รู้ว่าลูกไม่อยากไปโรงเรียน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่จะทราบและสามารถแก้ไขได้ทันที

แต่มีอีกกลุ่มหนึ่งแสดงออกทางอารมณ์ เช่น เกรี้ยวกราด โกรธ ทำลายข้าวของอย่างไม่มีเหตุผล บางรายซึมไม่อยากเล่นกับใคร แยกตัวเองนอนยาก เบื่ออาหาร บางพวกมีอาการทางกาย เช่น คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อาเจียน เป็นลม ปวดศีรษะ ปวดท้อง เหนื่อยอ่อน ใจสั่น ท้องเสีย เป็นต้น ในพวกที่มีอาการทางอารมณ์และอาการทางกายนี้ ถ้าเราไม่ได้คิดถึงเรื่องเด็กไม่อยากไปโรงเรียน ก็อาจทำให้เราวินิจฉัยเป็นโรคอื่นๆ ได้

มีข้อสังเกตในเด็กที่มีอาการทางกาย อาการจะเป็นมากทุกเช้าของวันเปิดเรียน และทันทีที่เด็กได้รับอนุญาตให้อยู่บ้าน อาการทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นปวดท้อง ปวดศีรษะ อาการเหล่านี้จะหายไปสิ้น เด็กจะเล่นได้ตลอดวัน แต่เมื่อถึงเวลาเช้าวันรุ่งขึ้นก็มีอาการใหม่อีก นอกจากนี้จะสังเกตพบว่าเช้าวันเสาร์ และวันอาทิตย์เด็กจะไม่มีอาการทางกายเลย แต่ถ้าเวลาล่วงเลยมาถึงเย็นวันอาทิตย์เด็กก็เริ่มมีอาการอีกได้ เหมือนกับผู้ใหญ่บางคนจะบ่นเสมอเมื่อถึงเย็นวันอาทิตย์ว่า “เบื่อเหลือเกินพรุ่งนี้ต้องไปทำงานอีกแล้ว”

 

ลูกไม่อยากไปโรงเรียนเกิดจากสาเหตุใด

 

  • การรักษา

คำว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” นั้นยังเป็นคำที่ทันสมัยเสมอ ดังนี้ การป้องกันไม่ให้เด็กรู้สึกเบื่อและไม่อยากไปโรงเรียนนั้น ย่อมดีกว่าปล่อยให้เกิดปัญหาเสียก่อนแล้วค่อยมาแก้ไข ในเด็กเล็กยังไม่คุ้นกับโรงเรียน ควรทำให้เด็กคุ้นกับโรงเรียนเสียก่อนซึ่งทำได้โดยพาเด็กไปเที่ยวที่โรงเรียนอนุบาลที่คุณพ่อคุณแม่คิดว่าจะให้เข้าเรียนที่นั้น พาไปให้ชินกับสถานที่ แนะนำให้รู้จักกับคุณครูและพูดถึงโรงเรียนแต่ในสิ่งที่ดี สิ่งที่น่าสนุก น่าไปเรียน เมื่อเด็กคุ้นต่อสถานที่แล้ว เมื่อถึงเวลาไปโรงเรียนเข้าจริงๆ เด็กจะไม่รู้สึกหวั่นวิตกแต่อย่างใด หรือถ้าจะกลัวบ้างก็เป็นแต่น้อย ข้อสำคัญอย่าใช้โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ใช้ขู่เด็ก บางท่านเห็นว่าเด็กดื้อมากจะขู่ว่า “ดื้อนักเดี๋ยวจับส่งโรงเรียนเลย” หรือ “ดื้อนักเดี๋ยวฟ้องครู ให้ครูตีให้ตาย” อย่างนี้เด็กจะนึกวาดภาพว่าโรงเรียนและครูเป็นสิ่งที่น่ากลัว

ในเด็กโตหรือเด็กวัยรุ่นที่มีข้อข้องใจหรือความวิตกกังวลอยู่ในใจมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีใครสักคนหนึ่งเป็นที่ปรึกษาและแนะนำแนะแนวให้กับเขา ทันทีที่เด็กไม่ไปโรงเรียน จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม (ถ้าไม่ใช่การเจ็บป่วยทางกายแล้ว) สิ่งที่ควรทำก็คือให้รีบกลับไปเรียนเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะถ้ายิ่งหยุดนานเท่าไร เด็กก็จะยิ่งไม่อยากไปโรงเรียนมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเราจะเห็นเสมอว่า พอเด็กหยุดโรงเรียน 1 วัน เขาก็จะขอหยุดต่ออีกไปเรื่อยๆ การหยุดโรงเรียนแม้แต่วันเดียวก็ทำให้เด็กกังวล เช่น เรียนไม่ทัน เพื่อนแล้วความกังวลนี้เลยทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน เป็นวงจรที่ไม่จบสิ้น

บางรายไม่อยากไปโรงเรียนแต่มีอาการทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ถ้าได้รับการยืนยันจากแพทย์แล้วว่าตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใจอ่อนยอมให้หยุดโรงเรียนควรมีท่าทีเฉยๆ และบอกกับเขาว่า “ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หาย และเขาควรไปโรงเรียน” ไม่นานนักเด็กก็จะเรียนรู้ว่าอาการปวดท้องไม่สามารถให้เขาหยุดโรงเรียนได้ อาการปวดท้องจะค่อยๆ หายไป

 

– ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก : มูลนิธิหมอชาวบ้าน