เทคนิคที่ช่วยเสริมสร้าง IQ และ EQ ให้กับลูก

หน้าแรก/พัฒนาการเด็ก/เทคนิคที่ช่วยเสริมสร้าง IQ และ EQ ให้กับลูก
เทคนิคที่ช่วยเสริมสร้าง IQ และ EQ ให้กับลูก

ไอคิว (Intelligence Quotient) หมายถึง ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา การคิด การใช้เหตุผล การคำนวณ การเชื่อมโยง อีคิว (Emotional Quotient) หมายถึง ความฉลาดทางอารมณ์เป็นความสามารถในการรับรู้และเข้าใจอารมณ์ทั้งของตัวเองและผู้อื่น ตลอดจนสามารถปรับหรือควบคุมได้อย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์

แม้การเสริมสร้าง IQ และ EQ อาจจะมีเทคนิควิธีการที่ต่างกันเล็กน้อย แต่แนวทางสำคัญในการเสริมสร้างและพัฒนานั้นไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ซึ่งมีปัจจัยสำคัญ 3 ปัจจัยที่ช่วยเสริมสร้างสมองก็คือ พันธุกรรม อาหาร และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อแม่ช่วยเสริมสร้างให้แก่ลูกน้อยได้

 

  • อาหารกาย อาหารใจ และอาหารสมอง

อาหารที่สำคัญที่สุดสำหรับทารกก็คือ “นมแม่” มีการวิจัยพบว่าเด็กที่ดื่มนมแม่จะมี IQ สูงกว่าเด็กที่ดื่มนมผงหรือนมวัวถึง 8 แต้ม และทารกควรดื่มนมแม่นาน 9 เดือน เพื่อกระตุ้นพัฒนาการทางสมอง จากนั้นเมื่อเด็กโตขึ้น การได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าครบ 5 หมู่ ก็จะช่วยสร้างเครือข่ายเส้นใยในสมองให้หนาแน่นยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ วิธีที่ป้อนอาหารให้เด็ก ยังช่วยเสริมสร้าง EQ ได้ด้วย เช่น ถ้าพ่อแม่อารมณ์ดี ก็จะทำให้ลูกรู้สึกดีตาม และอยากกินอาหารเพิ่มมากขึ้น หรือในขณะที่ลูกร้องหิวนม ถ้าพ่อแม่คุยกับลูกอย่างนุ่มนวล ก็จะทำให้ลูกรู้จักการรอคอย และเมื่อลูกโตพอแล้ว พ่อแม่ปล่อยให้กินอาหารด้วยตัวเอง เขาก็จะเกิดความมั่นใจและภูมิใจในตัวเอง

 

  • สัมผัสและโอบกอด

สัมผัสรักที่อบอุ่นจากพ่อแม่ โดยเฉพาะการกอดแนบอกจนได้ยินเสียงเต้นของหัวใจ จะส่งผลให้ฮอร์โมนแห่งความสุขของลูกหลั่งออกมา และกระตุ้นการทำงานของสมองให้เชื่อมโยงเส้นใยกันได้ดียิ่งขึ้น ทั้งช่วยสร้างเกราะในใจ ให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เกิดความภูมิใจในตนเอง มองโลกในแง่ดี และรู้จักไว้วางใจคนอื่น

 

การพัฒนาIQ&EQ

 

  • การพูดคุย เล่านิทาน ร้องเพลงกล่อม

เสียงมีผลสำคัญต่อการกระตุ้นให้เกิดเส้นใยประสาทและการเชื่อมโยงของใยประสาทในสมอง ทั้งเสียงจากการพูดคุย การร้องเพลง และการเล่านิทาน จึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เด็กพัฒนาภาษาได้อย่างเต็มที่ อันเป็นประตูไปสู่การเรียนรู้ในด้านอื่นๆ ทั้งสติปัญญา สังคม และการเสริมสร้างจินตนาการ การเพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิต การแก้ไขปัญหา หรือการปลูกฝังเรื่องคุณธรรม และยังช่วยพัฒนาการทางด้านอารมณ์ของเด็กให้ดียิ่งขึ้น เพียงแค่เปิดเพลงกระตุ้นเบาๆ หรือเล่านิทานสนุก ๆ ให้เด็กฟังตั้งแต่เล็กๆ

 

  • การออกกำลังกายและการเล่น

เป็นการเตรียมร่างกายและสมองให้ตื่นตัวพร้อมรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ยิ่งถ้าเด็กได้เล่นรวมกับเด็กคนอื่นๆ ก็จะยิ่งช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมให้กับเขามากยิ่งขึ้น โดยมีงานวิจัยทางด้านสมองและประสาทวิทยาอธิบายเปรียบเทียบระหว่างเด็กเก็บตัวไม่ยอมเข้าสังคมหรือออกกำลังกาย จะมีการสร้างเส้นใยสมองอารมณ์รุนแรงก้าวร้าว ในขณะที่เด็กมีทักษะทางสังคมที่ดี จะมีการสร้างเส้นใยสมองส่วนที่เป็นทักษะสังคมแบบร่วมมือกันและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ยิ่งถ้าเด็กมีทักษะในการเล่นที่ดี ก็จะมีแนวโน้มประสบความสำเร็จในการเรียนมากกว่า เพราะการเล่นจะช่วยพัฒนาทักษะการคิด การจดจำ แก้ปัญหา รวมถึงทักษะการเข้าสังคม และการทำงานแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่นอีกด้วย

 

การพัฒนาIQ&EQ

 

  • การนอนหัวค่ำ ตื่นแต่เช้า

การนอนและการขับถ่ายถือเป็นกิจวัตรพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะในเด็ก การนอนจะส่งผลต่อ Growth Hormones หรือฮอร์โมนหลักแห่งการเติบโต เราจึงต้องปลูกฝังให้เด็กเข้านอนอย่างมีวินัย นอนแต่หัวค่ำ ตื่นแต่เช้า ให้เขานอนพอและสามารถตื่นด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องเคี่ยวเข็ญปลุกเป็นประจำ เพราะจะทำให้การหลั่งฮอร์โมนในร่างกายคงที่ ส่งผลให้สมองปลอดโปร่ง พร้อมรับวันใหม่ ไม่ง่วงซึม

 

  • อย่าลืม ระวังอุบัติเหตุและสารพิษ

ถ้าเราบำรุงบ่มเพาะความฉลาดของลูกมาเป็นอย่างดี จนสมองและจิตใจเขาทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ แต่เกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝัน หรือเกิดการกระทบกระเทือนบริเวณศีรษะที่ส่งผลต่อสมอง จนไม่อาจเคลื่อนไหว หรือใช้สติปัญญาและทักษะทางสังคมได้เหมือนเดิม ก็คงเป็นเรื่องน่าเสียดายเป็นอย่างมาก ดังนั้นเรื่องความปลอดภัย จึงเป็นอีกสิ่งสำคัญในการเสริมสร้างความฉลาดให้ลูกน้อยรวมถึงเรื่องสารพิษ ที่อาจส่งผลต่อการทำลายสมอง โดยเฉพาะสารพิษที่สามารถละลายในน้ำและปนเปื้อนในอาหารได้ เพราะร่างกายของเด็กยังเปราะบางเกินกว่าจะมีภูมิต้านทานต่อสารเหล่านี้

 

– ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก : สสส., กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข