วิธีชงนมไม่ให้เกิดฟอง เพื่อช่วยลดอาการท้องอืด ไม่สบายตัว ในเด็กเล็ก

หน้าแรก/วิธีเลี้ยงลูก/วิธีชงนมไม่ให้เกิดฟอง เพื่อช่วยลดอาการท้องอืด ไม่สบายตัว ในเด็กเล็ก
วิธีชงนมไม่ให้เกิดฟอง เพื่อช่วยลดอาการท้องอืด ไม่สบายตัว ในเด็กเล็ก

รู้ไหมว่าอาการท้องอืดของลูกน้อยเกิดจากอะไร ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีฟองอากาศในขวดนม จากการ ชงนมลูก แต่คุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวล เพราะมีวิธีป้องกันการเกิดก๊าซในขวดนมได้ ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดนั่นก็คือ การเลือกขวดนมที่ลดการเข้าไปของอากาศ หรือจะใช้วิธีชงนมไม่ให้เกิดฟอง ก็ช่วยลดปัญหานี้ได้เช่นกัน ซึ่งวันนี้เราจะมาเผยเคล็ดลับให้คุณแม่ได้รู้และนำไปปรับใช้กันดูค่ะ

ก่อนอื่นต้องเตรียมขวดนมให้พร้อมก่อนนะคะ โดยการนำขวดนมและจุกนมไปล้างให้สะอาดน้ำต้มเดือด สัก 15-20 นาที แล้วนำขวดนมและจุกนมไปตากให้แห้งสนิท แล้วนำมาประกอบเข้าด้วยกัน ให้คุณแม่สังเกตว่า สามารถปิดเข้ากันได้พอดีไหม หรือขวดมีลักษณะบิดเบี้ยวไหม มีสีขุ่นกว่าเดิมไหม มีรอยขีดข่วนไหม ถ้ามีลักษณะแบบนี้ก็ให้เปลี่ยนขวดนมใหม่ได้แล้วค่ะ แต่ถ้าขวดนมอยู่ในสภาพดี ก็ไปต่อที่ขั้นตอนชงนมกันค่ะ

วิธีชงนมไม่ให้เกิดฟอง

  • 1. ใช้ขวดนมที่ออกแบบมาเพื่อลดการไหลของอากาศที่เข้าในขวดนม แต่ถ้าคุณแม่ไม่มีก็ไม่เป็นไรค่ะ ใช้ขวดนมที่มีอยู่ แต่ว่าคุณแม่ต้องใช้ขวดนมที่มีปริมาณที่พอเหมาะกับปริมาณที่ลูกดื่ม ไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป
  • 2. ใช้จุกนมที่มีอัตราการหยดต่ำ เพราะเหมาะสมกับจังหวะที่ลูกน้อยดูดนม ทำให้ลดอากาศในขวดนมได้
  • 3. ในการชงนมให้คุณแม่ใช้น้ำอุ่นประมาณ 60 องศาสำหรับชงนม โดยเทน้ำอุ่นลงไปในขวดนมประมาณ 1 ใน 3 แล้วค่อยตักนมผงส่งไปในสัดส่วนที่ต้องการ แล้วใช้ช้อนคนให้นมกับน้ำผสมเข้ากันได้ดีแล้ว พอเข้ากันดีแล้วค่อยเพิ่มปริมาณน้ำเข้าไปค่ะ ซึ่งวิธีนี้ เป็นการชงนมที่ช่วยลดการเกิดฟองอากาศได้ดีกว่าการเขย่า ยิ่งเขย่ายิ่งมีฟองอากาศเยอะ คุณแม่หลายคนอาจไม่คิดว่าจะส่งผลเสียต่อลูกน้อย เอาความสะดวกเข้าว่า แต่ถ้ารู้แบบนี้แล้วใช้วิธีการคนให้เข้ากันก่อนจะดีกว่านะคะ ลูกน้อยจะได้ไม่ท้องอืด หรือมีก๊าซในท้อง

วิธีสังเกตว่า ลูกน้อยกำลังดูดฟองอากาศอยู่

  • 1. คอยสังเกตดูเวลาเขาดูดนม และคอยฟังเสียง คุณแม่ก็จะรู้ว่าตอนนี้เขาไม่ได้ดูดนมนะ เขากำลังดูดฟองอากาศอยู่ คุณแม่ต้องปรับตำแหน่งขวดนมใหม่ให้ลูก
  • 2. เมื่อนมในขวดนมเหลือปริมาณน้อยลง ให้คุณแม่จับขวดนมตั้งขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกน้อยดูดฟองอากาศแทน
  • 3. เมื่อลูกน้อยดูดนมหมดขวดแล้ว ให้คุณแม่รีบเอาขวดนมออกมาทันที
  • 4. เมื่อลูกน้อยดื่มนมเสร็จ ต้องทำให้ลูกน้อยเรอออกมา เพื่อป้องกันการเกิดก๊าซในกระเพาะ

เห็นไหมคะ แค่คุณแม่ใส่ใจสักนิด ก็จะป้องกันไม่ให้ลูกน้อยดูดฟองอากาศ จนเกิดอาการท้องอืดหรือมีก๊าซในกระเพาะมากเกินไปได้ ทารกน้อยเป็นช่วงวัยที่บอบบางที่ต้องการการเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ เพราะเขาไม่สามารช่วยตัวเองได้ ตอนนี้คุณแม่ต้องคอยหมั่นสังเกตอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยลดการเจ็บป่วยต่างๆได้