แนะนำเคล็ดลับแก้ปัญหาการกินสำหรับเด็ก

หน้าแรก/วิธีเลี้ยงลูก/แนะนำเคล็ดลับแก้ปัญหาการกินสำหรับเด็ก
แนะนำเคล็ดลับแก้ปัญหาการกินสำหรับเด็ก

ถ้าหากว่าคุณพ่อคุณแม่มือใหม่กำลังกลุ้มใจเกี่ยวกับอาหารการกินของลูก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกินอาหารยาก เลือกกิน หรือไม่ชอบกินผัก ลองมาดูแนวทางแก้ปัญหานี้กันดูนะคะ

 

5 เคล็ดลับแก้ปัญหาการกินของลูก

1. ชนิดของอาหาร
เด็กมักยอมกินอาหารเพียง 2-3 อย่าง และไม่เอาอย่างอื่นๆ ซะเลย นี่คือลักษณะที่พบบ่อย อย่างไรก็ตาม ลักษณะเช่นนี้มักไม่ถึงกับทำให้เด็กขาดสารอาหารอย่างรุนแรง และเป็นนิสัยชั่วคราวที่แก้ไขได้

วิธีแก้คือ ต้องให้โอกาสลูกของคุณได้ทดลองอาหารอย่างอื่นโดยเริ่มทีละอย่าง คราวละน้อยๆ ค่อยเป็นค่อยไป ครั้งแรกๆ ที่เด็กได้ลองอาหารอย่างใหม่ แกอาจปฏิเสธเพราะความไม่คุ้นเคย นั่นไม่ได้แปลว่าการทดลองล้มเหลว คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้ความพยายามชักจูงแกสักหน่อย ลองใหม่ แต่อย่าบังคับ อย่าโกรธลูก ถ้าแกไม่ยอมกินอย่างที่เราอยากให้แกกิน

2. รสชาติของอาหาร
บางครั้งการที่เด็กไม่ยอมกินอาจเป็นเพราะแกเบื่อรสชาติของอาหาร เช่น ทุกเช้าเจอแต่ไข่ต้มอยู่เรื่อย เจอแต่ถั่วผัดอยู่เรื่อย เด็กก็อาจเบื่อ กรณีนี้คุณอาจลองปรุงไข่เป็นไข่ดาว ไข่เจียว หรือไข่ตุ๋นบ้าง หมุนเวียนกันไปเป็นระยะ สำหรับถั่ว ก็อาจนำมาปรุงเป็นเต้าเจี้ยวหลน นำมาทอดชุบกับไข่บ้าง หรือใช้เต้าหู้แทนก็ได้ เด็กบางคนอาจเบื่อนมสด คุณก็อาจเปลี่ยนให้แกกินนมเปรี้ยว โยเกิร์ต คัสตาร์ด หรือเนยแข็งแทนบ้าง โปรดระลึกว่า เด็กๆ คิดสูตรอาหารเองไม่เป็นหรอก คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามพลิกแพลงดู

3. ความถี่ หรือจำนวนมื้อของอาหารในแต่ละวัน
เด็กจำนวนไม่น้อยที่กินอาหารได้ทีละน้อย หรือวันนี้แกยอมกินจุ พอพรุ่งนี้กลับกินน้อยลงเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องปกติ ความจริงที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบคือ กระเพาะอาหารของเด็กนั้นมีขนาดเล็ก ความจุจึงน้อย ดังนั้น สำหรับเด็กที่กินไม่จุในแต่ละวันควรให้แกได้กินอาหารประมาณ 5-6 มื้อ ใน 5-6 มื้อนี้อาจเป็นอาหารคาวหลัก 3 มื้อ และอาหารว่างอีก 2-3 มื้อ แทรกระหว่างมื้อหลัก จำพวกอาหารว่างนี้อาจเป็นผลไม้ชนิดต่างๆ ถ้าให้เด็กถือกินเองได้ ก็จะช่วยเสริมบรรยากาศให้แกอยากกินมากขึ้น เพราะเด็กชอบช่วยตัวเองและสนุกกับการที่ได้กินอะไรด้วยตนเอง นอกจากผลไม้ก็อาจให้แกกินพวกลูกชิ้นปิ้ง ขนมปังชุบไข่ทอด สาคูไส้หมู เป็นต้น

 

เคล็ดลับแก้ปัญหาการกินสำหรับเด็ก
เคล็ดลับแก้ปัญหาการกินสำหรับเด็ก

 

4. เครื่องดื่ม
ในวัยเด็ก การได้ดื่มนม น้ำสะอาดและน้ำผลไม้ จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมาก พวกเครื่องดื่มนี้ควรให้ตอนเด็กกินอาหารหลักจวนอิ่มแล้ว จะดีกว่าให้ก่อนกินอาหาร เพราะถ้าแกดื่มนม น้ำ หรือน้ำผลไม้มากก่อนกินอาหาร แกก็จะอิ่มเร็วเมื่อกินอาหาร เลยทำให้กินอาหารหลักได้น้อยลง ในบ้านเราอากาศมักร้อนตลอดปี เด็กควรได้ดื่มน้ำให้มาก ควรจัดพวกเครื่องดื่ม ไว้ให้เด็กหาดื่มได้ด้วยตนเอง เพราะมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ไม่ขอน้ำดื่มแม้จะกระหาย หรือบางทีแกห่วงเล่นมากเกินไป ก็ไม่ยอมดื่ม ถ้าเราจัดไว้ในที่ที่แกคุ้นเคยและหยิบถึง แกจะช่วยตัวเองได้

5. จำพวกผักต่างๆ
เด็กจำนวนมากไม่ชอบกินผัก วิธีฝึกหัดให้เด็กชินกับการกินผักควรเริ่มตั้งแต่ 6 เดือนแรก ถึงกระนั้นก็ตาม ก็พบได้บ่อยๆ ว่า เด็กที่เข้าวัย 2 ขวบขึ้นไป อาจปฏิเสธที่จะกินผัก คุณพ่อคุณแม่อย่าเป็นกังวลมาก ถ้ามีผลไม้สดทดแทนแกก็จะได้คุณค่าของสารอาหารจากผลไม้ทดแทนที่ควรได้จากผักอย่างไรก็ตาม การฝึกให้เด็กยอมกินผักเมื่อโตขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นเข็ญใจซะทีเดียว หลักการมีอยู่ว่า ตอนเริ่มแรกควรให้ทีละน้อย และควรหั่นผักให้เล็ก พอที่เด็กจะเคี้ยวและกลืนได้สะดวก เด็กหลายคนเข็ดขยาดการกินเพราะตอนที่กลืนไม่ค่อยลง บางคนถึงกับขย้อนทีเดียวแหละ

นอกจากเริ่มทีละน้อยแล้ว ยังควรที่จะผสมปนผักลงในอาหารอื่นๆ ที่เด็กโปรดปรานเพื่ออาศัยอาหารโปรดของแกเป็นสะพานเชื่อมโยงไปสู่นิสัยใหม่ เช่น อาจซอยผักเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมในโจ๊กหมู หรือผัดกับข้าวผัดก็ไม่เลว

 

– ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก : มูลนิธิหมอชาวบ้าน