เสริมสร้างความเป็นตัวของตัวเองให้ ลูกแฝด

หน้าแรก/วิธีเลี้ยงลูก/เสริมสร้างความเป็นตัวของตัวเองให้ ลูกแฝด
เสริมสร้างความเป็นตัวของตัวเองให้ ลูกแฝด

คุณแม่หลายๆ คนอาจนึกอิจฉาคุณแม่ลูกแฝด ที่ท้องเพียงครั้งเดียวก็ได้เจ้าตัวเล็กมาชื่นชมถึง 2 คนหรือมากกว่านั้น แต่ความจริงแล้วการดูแลลูกแฝดไม่ง่ายเลยค่ะ นับตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ซึ่งอาจมีความเสี่ยงหลายๆ อย่างมากกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ปกติ แถมการดูแลทารกแรกเกิดพร้อมๆ กันถึง 2 คน ก็ไม่ง่ายเลย และปัญหาหนึ่งที่คุณแม่ลูกแฝดและคนรอบๆ ตัวอาจคาดไม่ถึงคือ ลืมไปว่าพวกเขาเป็นคนละคนกัน จึงคอยเปรียบเทียบหรือให้เขาทำอะไรเหมือนๆ กัน จนทำให้เด็กขาดความเป็นตัวของตัวเองได้

ความเหมือนจากการเลี้ยงดู

แฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกันจะมีเพศเดียวกันและหน้าตาเหมือนกัน มีแนวโน้มที่พวกเขาจะมีลักษณะนิสัยที่คล้ายคลึงกัน แต่แฝดที่เกิดจากไข่คนละใบทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ ก็อาจมีความชอบหรือนิสัยเหมือนกันได้ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว และการเลี้ยงดูของคุณแม่ที่มักทำอะไรให้เขาเหมือนๆ กัน มีส่วนทำให้เด็กแฝดให้มีความชอบ พฤติกรรมและลักษณะนิสัยเหมือนกันได้มากขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นแฝดแบบไหนคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตหาความแตกต่างของเด็กแต่ละคนให้เจอ เพื่อเสริมสร้างความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขาด้วยนะคะ

แยกแฝดออกจากกันบ้าง

วิธีหนึ่งที่จะช่วยได้คือ การแยกคู่แฝดออกจากกันบ้าง ไม่จำเป็นต้องให้พวกเขาอยู่ด้วยกันตลอดเวลา โดยคุณพ่อคุณแม่ควรมีเวลาอยู่กับลูกแต่ละคนตามลำพังบ้าง การทำเช่นนี้จะทำให้เขารู้สึกว่าได้รับความสนใจเท่าๆ กัน และรู้สึกถึงความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น รวมทั้งตัวคุณแม่เองก็จะมองเห็นถึงลักษณะนิสัยเฉพาะตัวของเขาได้ชัดเจนขึ้น

นอกจากนี้การเลือกเสื้อผ้าของใช้ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องซื้อของที่เหมือนกัน หรือถ้าจะให้เขาเลือกเองก็ไม่จำเป็นต้องให้เขาเลือกพร้อมกันหรอกค่ะ การให้ลูกเลือกขนมหรือของเล่นทีละคน คุณอาจได้ค้นพบความชอบที่แตกต่างของคู่แฝดได้

ถึงจะบอกว่าแยกคู่แฝดออกจากกันบ้าง แต่การพาคนหนึ่งไปอยู่อีกที่หนึ่งหลายๆ วัน ขณะที่อีกคนอยู่บ้านกับคุณแม่นั้นไม่ควรทำ เพราะความสัมพันธ์ของคู่แฝดนั้นแนบแน่น ความคิดถึงกันจึงมากเป็นพิเศษ

ความรู้สึกลึกๆ ของคู่แฝด

แม้บางครั้งเด็กแฝดก็สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้โดยไม่ต้องใช้คำพูด และมักจะมีความผูกพันกันมากกว่าพี่น้องทั่วๆ ไป แต่โดยลึกๆ แล้วเด็กแฝดจะมีความรู้สึกแข่งขันกันอยู่ในตัว แถมด้วยความที่อายุเท่าๆ กัน ทำให้พวกเขาทะเลาะกันได้บ่อยกว่าพี่น้องทั่วไปเสียอีกเพราะต่างคนต่างไม่ยอมกันอยู่แล้ว     

แต่การแข่งขันของคู่แฝดนั้นมักจะแสดงออกมาในรูปแบบของการเลียนแบบกัน เช่น คนหนึ่งทำอะไรได้อีกคนก็จะพยายามทำให้ได้เช่นกัน เราจึงสามารถดึงเอาจุดนี้ มาเป็นแรงจูงใจให้ทั้งคู่พัฒนาตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ แต่คุณแม่ต้องไม่ใช้คำพูดในลักษณะเปรียบเทียบว่าใครเก่งกว่าใครนะคะ
              

การเล่นร่วมกันของแฝดชาย-หญิง

สำหรับแฝดชาย-หญิง คุณพ่อคุณแม่มักจัดกิจกรรม ทั้งการเรียน การเล่น การสนทนาของลูกชายและลูกสาวไว้ต่างกันตามเพศของเขาอยู่แล้ว ไม่ต่างจากบ้านที่มีพี่น้องชาย-หญิงทั่วๆ ไปที่คุณพ่อคุณแม่มักจะดูแลเอาใจใส่ทะนุถนอมและพูดคุยกับลูกสาวมากกว่า ในขณะที่กับลูกชายอาจได้รับการเลี้ยงดูแบบลุยๆ สักหน่อย  แต่สำหรับคู่แฝดในวัยเด็กการอยู่ร่วมกันทำให้พวกเขาต้องเล่นด้วยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  การเล่นที่ตรงข้ามเพศจึงเกิดขึ้นได้เสมอ หากเห็นลูกชายเล่นตุ๊กตาแบบเด็กผู้หญิง หรือลูกสาวเตะบอลก็ไม่ต้องวิตกว่าเขาจะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน ปล่อยให้เขาได้เล่นในสิ่งที่เขาอยากเล่นเถอะค่ะ ถือเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ เพราะการเล่นตรงข้ามเพศจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องการปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ดีกว่าเด็กที่เล่นอยู่กับพี่น้องเพศเดียวกัน  

ผู้เขียน : ชนาวรรณ์
นักเขียนนิทาน เรื่องสั้น บทความสุขภาพ-พัฒนาการเด็ก
ภาพประกอบ : ด.ญ.อลิชา (อลิซ)-ด.ช.อชิตะ (อชิ) ชัยพิพากร