เคล็ดลับเลี้ยงลูก พร้อม กิจกรรมเสริมพัฒนาการ เด็กในแต่ละช่วงวัย ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

หน้าแรก/วิธีเลี้ยงลูก/เคล็ดลับเลี้ยงลูก พร้อม กิจกรรมเสริมพัฒนาการ เด็กในแต่ละช่วงวัย ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
เคล็ดลับเลี้ยงลูก พร้อม กิจกรรมเสริมพัฒนาการ เด็กในแต่ละช่วงวัย ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

แพทย์หญิงชนิตา พิชญ์ภพ กุมารแพทย์ได้แนะนำ ได้มาร่วมแชร์เคล็ดลับการเลี้ยงลูกพร้อมเสริมกิจกรรมที่จะช่วยสร้างพัฒนาการเด็กในแต่ช่วงละวัย ในงานกิจกรรมเวิร์คช็อปสร้างสรรค์งานศิลปะที่อาณาจักรสวนสนุกสำหรับเด็กระดับเวิลด์คลาส ‘เพลย์มอนโด’ (Playmondo) แหล่งรวบรวมโซนเครื่องเล่นสุดทันสมัยแห่งยุค ที่มาพร้อมกับมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล

ว่า ครอบครัวนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการที่ดีแก่เด็ก เพื่อให้เขามีความเชื่อใจ และเกิดความไว้วางใจ ซึ่งการทำกิจกรรมร่วมกันของครอบครัวจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีของสมาชิกในครอบครัว พร้อมทั้งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ด้านร่างกาย ด้านสติปัญญา ด้านอารมณ์และจิตใจ รวมทั้งด้านสังคมของเด็กในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

ด้านพัฒนาการของเด็กนั้น ในช่วงแรกเกิดถึงวัย 7 ขวบ นั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ที่มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ ช่วงวัยแรกเกิดถึงอายุ 2 ขวบจะเป็นช่วง ‘Sensory Motor Stage’ หรือเรียกว่า ‘ขั้นประสาทรับรู้และการเคลื่อนไหว’ เป็นขั้นของการเรียนรู้จากประสาทสัมผัส ในขั้นนี้พัฒนาการจะก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เห็นได้ชัดจากการนอน เปลี่ยนเป็นพลิกนั่ง เริ่มตั้งไข่ ยืนขึ้น และก้าวเดิน รวมทั้งมีการพัฒนาการการเรียนรู้ การแก้ปัญหา มีการจัดระเบียบการกระทำ มีการคิดก่อนที่จะทำ การกระทำจะทำอย่างมีจุดมุ่งหมายด้วยความอยากรู้อยากเห็น และเด็กยังสามารถเลียนแบบโดยไม่จำเป็นต้องมีตัวแบบให้เห็นในขณะนั้นได้ ซึ่งแสดงถึงพัฒนาการด้านความจำที่เพิ่มมากขึ้นในช่วง 18-24 เดือน จนสามารถในการจดจำใบหน้าคนได้

ในช่วงวัยแรกเกิด การดูแลเอาใจใส่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการด้านต่างๆ ของร่างกายเกิดขึ้น ทั้งด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ จากการนั่ง นอน ลุก และเดิน ควรมีการส่งเสริมที่ดีเพื่อช่วยสร้างพัฒนาการด้านร่างกาย รวมทั้งการรับรู้สิ่งของต่างๆ ควรเล่น และพูดคุยกับเด็กในทุก ๆ วัน รวมทั้งการนวดตัวอย่างแผ่วเบาหลังอาบน้ำ จะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสให้เด็กได้

และอาจเพิ่มตัวช่วยด้วยของเล่นต่าง ๆ เช่น โมบายที่มีสีสันสดใส ของเล่นที่มีผิวสัมผัสที่แตกต่างกัน หรืออาจจะให้ฟิงเกอร์ฟู้ด (Fingers Food) ที่เด็กๆ สามารถหยิบจับอาหารเข้าปากตัวเองได้เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ สำคัญที่สุดของวัยนี้คือสัมพันธภาพของผู้เลี้ยงดูกับเด็ก ที่เด็กจะมีการให้ความไว้วางใจกับผู้เลี้ยงดู เพราะเขาจะเกิดการรับรู้ว่าคนที่เขาอยู่ด้วยแล้วจะปลอดภัยคือใคร ผู้เลี้ยงดูจึงจำเป็นจะต้องเอาใจใส่เด็กเป็นพิเศษ

ถัดมาในช่วงวัย 2-7 ขวบ เป็นวัยที่มีการเรียนรู้เพิ่มขึ้น มักจะเกิดคำถามอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งมีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อที่แข็งแรงมากขึ้น จะเริ่มเล่นซน วิ่ง ปีนป่าย สิ่งสำคัญคือเรื่องความปลอดภัยในการดูแลเด็กขณะทำกิจกรรม ด้านการเรียนรู้ ในวัยนี้เด็กจะเชื่อว่าสิ่งของทุกอย่างมีชีวิต (Animism) มักจะเล่นสมมุติโดยจะเอาตุ๊กตาเล่นสมมุติเป็นพ่อแม่ลูก แสดงเป็นเรื่องราวเหมือนว่าตุ๊กตาเป็นสิ่งมีชีวิต และเด็กจะเชื่อมโยงปรากฏการณ์ 2 อย่างที่เกิดขึ้นพร้อมกันว่าเป็นเหตุและเป็นผลซึ่งกันและกันด้วย ซึ่งผู้ปกครองสามารถส่งเสริมพัฒนาการด้านเรียนรู้ด้วยการเล่านิทานที่เป็นเรื่องราวมากขึ้น มีการสอดแทรกเรื่องคุณธรรมจริยธรรมเข้าไปด้วย และต้องรับรู้ว่าในวัยนี้จะมีคำถามที่เยอะขึ้น ควรตอบคำถามในเชิงที่สร้างสรรค์ ให้เขาสามารถคิดหรือจินตนาการต่อได้ สามารถส่งเสริมการทำกิจกรรมผ่านการวาดภาพที่จะเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทั้งด้านร่างกายคือกล้ามเนื้อมือในการหยิบจับ และพัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจด้วย

เด็กอายุ 3 ขวบ จะเริ่มมีการขีดเส้นตรงและวาดวงกลมได้ อาจจะเห็นได้จากการวาดรูปคนแบบรูปก้างปลา ในช่วงวัยนี้การวาดภาพส่วนมากเกิดมาจากจินตนาการของเด็ก แต่เป็นการวาดขีดเขียนที่เราสามารถสอบถามได้ว่าเขากำลังวาดรูปอะไร

ในช่วงวัย 5-6 ขวบขึ้นไป การวาดรูปจะเริ่มทำได้ดีขึ้น มีความเหมือนหรือคล้ายคลึงมากขึ้น ส่วนมากจะเป็นการวาดที่มาจากความจำหรือประสบการณ์ที่เคยพบเจอ ซึ่งผู้ปกครองสามารถคอยดูสอบถามอยู่ตลอดว่าเขาเขียนอะไรลงไป และคอยชื่นชมสนับสนุน เพื่อเป็นการกระตุ้นส่งเสริมจินตนาการ และช่วยให้เด็กเกิดความมั่นใจในตนเองมากขึ้น