อาการมือบวม เท้าบวมระหว่างตั้งครรภ์ เกิดจากสาเหตุใด

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/อาการมือบวม เท้าบวมระหว่างตั้งครรภ์ เกิดจากสาเหตุใด
อาการมือบวม เท้าบวมระหว่างตั้งครรภ์ เกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุสำคัญ มือบวมเท้าบวมขณะตั้งครรภ์

แพทย์หญิงธาริณี ลำลึก อธิบายสาเหตุสำคัญของร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่ส่งผลให้เกิดอาการมือบวม เท้าบวมว่า ประการที่หนึ่ง เกิดจากขนาดของมดลูกที่ขยายตัวขึ้นในขณะตั้งครรภ์ ส่งผลให้ไปกดทับหลอดเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลือง ซึ่งจะต้องไหลเวียนย้อนกลับไปที่หัวใจ ทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ ทำให้เลือดเกิดการคลั่งอยู่บริเวณส่วนล่างของร่างกาย และประการที่สอง เวลาที่คุณแม่เกิดการตั้งครรภ์ จะมีภาวะฮอร์โมนซึ่งเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ มีการดูดซึมน้ำมากกว่าปกติ และ กักเก็บน้ำมากกว่าปกติ เพราะฉะนั้นก็จะทำให้เกิดอาการมือเท้าบวม ตัวบวมขึ้นมาได้

 

แก้ไขอาการบวม ในเบื้องต้น

แนะนำวิธีการแก้ไขเบื้องต้น ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์สามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเองว่า คุณแม่ควรพยายามนอนตะแคง และยกปลายเท้าให้สูงขึ้นในเวลานอน หรือหากไม่สามารถนอนได้ ก็สามารถเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของร่างกาย และ ไม่ได้ทำให้เกิดการกดทับของมดลูก เพื่อให้ระบบไหลเวียนเลือดในร่างกายเป็นไปโดยสะดวก โดยส่วนอาการมือบวมนั้น ไม่ได้เกิดจากขนาดของมดลูกไปกดทับเส้นเลือดแต่อย่างใด ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์จะทำท่าทางแบบใดก็จะมีอาการบวม เพราะสาเหตุของอาการนิ้วบวม เกิดขึ้นจากเนื้อเยื่อมีการดูดน้ำและกักเก็บน้ำไว้ในร่างกาย หรือกักเก็บน้ำไว้ภายในเนื้อเยื่อมากขึ้น ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ จึงต้องพยายามไม่ใส่แหวน เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมาจากอาการนิ้วบวม

 

ต้องสังเกตเพิ่มเติมว่า บวมผิดปกติ หรือไม่

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรจะระมัดระวังเพิ่มเติม เพราะอาการเหล่านี้เป็นอาการนิ้วบวมมือบวมตามปกติ ไม่ใช่ปัญหาร้ายแรง แต่ยังมีสัญญาณเตือนเพิ่มเติม จากอาการบวมแบบผิดปกติ ซึ่งจะเกิดขึ้นจาก ภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งจะมีลักษณะบวมของผิวในร่างกายแบบกดบุ๋ม คือ เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ กดผิวเนื้อและเกิดการบุ๋มคงสภาพไว้ ซึ่งอาการบวมดังกล่าว จะเกิดขึ้นได้ทั้งภาวะขาบวม มือบวม หรือหน้าบวมก็ได้ โดยอาการบวมดังกล่าวจะมีอาการร่วมกับความดันโลหิตสูง โปรตีนรั่วในปัสสาวะ และ สามอาการสำคัญของคุณแม่ตั้งครรภ์ คือ อาการปวดศีรษะ ตาพร่ามัว และ ปวดจุดแน่นลิ้นปี่

 

อาการมือบวม เท้าบวมระหว่างตั้งครรภ์
อาการมือบวม เท้าบวมระหว่างตั้งครรภ์

 

ภาวะบวมผิดปกติ กับ อาการโปรตีนรั่วในปัสสาวะ

อาการโปรตีนรั่วในปัสสาวะ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ต้องใช้วิธีการตรวจเท่านั้น โดยคุณหมอ ร่วมกับความดันโลหิตสูง ก็ต้องมีการวัด ร่วมกับอาการร่วมทั้งสามอาการ ที่ได้แก่ อาการปวดศีรษะ ตาพร่ามัว และ ปวดจุดแน่นลิ้นปี่ โดยภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะ เกิดขึ้นจากกลไกการทำงานของไต เมื่อฮอร์โมนในตัวคุณแม่ตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นแล้ว ไตไม่สามารถกักเก็บโปรตีนไว้ในร่างกายได้ ก็จะเกิดการรั่วออกมา ซึ่งอาการโปรตีนรั่วในปัสสาวะ เป็นอาการร่วมของภาวะครรภ์เป็นพิษ ที่จะส่งต่อการคลอดก่อนกำหนดของคุณแม่ตั้งครรภ์ ดังนั้นแพทย์หญิงธาริณี เน้นย้ำว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรสังเกตภาวะการบวมของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะสัญญาณเตือนจากภาวะร่างกายที่เปลี่ยนแปลง ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

 

เมื่อสังเกตบ่อยๆ ไม่ต้องกังวล

ในปัจจุบันทางการแพทย์จะสามารถใช้เครื่องมือที่ตรวจวัดออกซิเจน ภายในร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์ได้อย่างถูกต้องชัดเจน นอกเหนือจากการดูสีหรือสังเกตสีของเล็บมือที่มีภาวะเปลี่ยนแปลงไป จากเล็บสีชมพูปกติ ไปสู่เล็บสีคล้ำหรือเล็บสีเขียว ซึ่งเหตุผลของการทราบปริมาณออกซิเจน ก็จะได้ทราบว่าออกซิเจนพอเพียงกับคุณแม่และคุณลูกในครรภ์หรือไม่ ดังนั้นกรณีคำแนะนำ ว่าไม่ควรทาสีเล็บ ก็ถือเป็นขั้นตอนเบื้องต้น เพื่อความสะดวกในสังเกตุภาวะของร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งจะส่งผลในการดูสีของเล็บมือได้ทันที นอกเหนือจากการตรวจวัดด้วยเครื่องมือ

 

ระมัดระวังเพิ่มเติม นอกเหนือจากมือบวมเท้าบวม

นอกเหนือจากการสังเกตอาการมือบวมเท้าบวม รวมไปถึงการรับประทานอาหารของคุณแม่ตั้งครรภ์ ว่าสามารถกินน้ำมะพร้าวได้ หรือทุเรียนก็สามารถกินได้ตามปกติ แต่ให้ระมัดระวังในเรื่อง แป้งและน้ำตาล ที่จะทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัญหาที่ตามมา รวมทั้งอาจทำให้ท้องอืดได้ง่าย โดยแพทย์หญิงธาริณี แนะนำลักษณะการกินของคุณแม่ตั้งครรภ์ว่า อย่าพยายามเน้นอาหารประเภทใดประเภทหนึ่ง เพราะอาจส่งผลให้เกิดอาการแพ้ ซึ่งมีผลการวิจัยซึ่งระบุแนวโน้มที่น่าสนใจว่า หากกินนมวัวในขณะตั้งครรภ์มากเกินไป อาจส่งผลให้ลูกแพ้นมวัวได้ ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องแยกแยะว่าเราต้องการอะไรจากนม เช่น ต้องการแคลเซียม โดยปัจจุบันเราสามารถกินได้จากแคลเซียมเม็ด เพื่อเสริมความต้องการของร่างกาย หรือ หาแคลเซียมจากแหล่งอื่น เช่น ปลาตัวเล็ก ถั่ว งา หรือ โปรตีนที่ได้จากปลา หมู ไก่ ไข่ นอกเหนือจากนม แต่เราต้องรับประทานสลับกัน ทานไข่มากเกินไปก็อาจเกิดอาการแพ้ไข่ในคุณลูกได้ กรณี คุณแม่แพ้นมวัว ก็จะมีผลประมาณ 30% ที่ลูกในครรภ์มีโอกาสแพ้ได้

 

– ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก : พญ. ธาริณี ลำลึก สูตินรีแพทย์
ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
ศูนย์สุขภาพหญิง