10 ความเชื่อผิดๆ ในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอด

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/10 ความเชื่อผิดๆ ในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอด
10 ความเชื่อผิดๆ ในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอด

ความเชื่อผิดๆ ของสตรีในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอด ที่มักเข้าใจผิดกันมีดังนี้

 

  1. การฝากครรภ์ควรมาฝากเมื่อตั้งครรภ์ได้ 4-5 เดือน หรือเมื่อรู้สึกว่าเด็กดิ้น
    ที่ถูกต้องคือ การฝากครรภ์นั้นควรทำให้เร็วที่สุดเมื่อแน่ใจว่าตั้งครรภ์แล้ว เพื่อแพทย์จะได้ตรวจสุขภาพว่ามีโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายจากการตั้งครรภ์ หรือเป็นอุปสรรคต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ หากมีจะได้รักษาแต่เนิ่นๆ การฝากครรภ์นั้นอาจไปฝากที่โรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือคลินิกก็ได้
  2. เด็กดิ้นมากๆ จะคลอดเป็นเด็กชาย
    ที่ถูกต้องคือ การที่เด็กดิ้นมากๆ นี้เป็นไปได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ในภาวะปกติเด็กจะเริ่มดิ้นเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 4-5 เดือน และเด็กจะดิ้นมากขึ้นถ้ามารดาอยู่ในภาวะอ่อนเพลียหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
  3. หญิงมีครรภ์ไม่ควรกินไข่ และอาหารที่มีไขมัน เพราะจะทำให้เด็กมีไขมันตามตัวและคลอดยาก
    ที่ถูกต้องคือ ไข่เป็นอาหารที่มีประโยชน์หลายอย่าง ไม่ควรงด การกินอาหารที่มีไขมันมากอาจไม่ใช่สาเหตุอย่างเดียวที่ทำให้มีไขมันที่เด็ก เรื่องการคลอดยากก็ไม่เกี่ยวกับอาหาร ยกเว้นในกรณีที่เด็กตัวโตเกินไป หรือแม่กินอาหารจนน้ำหนักเพิ่มมากเกินไป อาจเป็นปัญหาในการคลอดบุตรได้ และอาหารจำพวกไขมันให้พลังงานสูง ถ้ากินมากเกินไปจะทำให้อ้วนได้
  4. หญิงมีครรภ์ควรกินอาหารและน้ำเพียงเล็กน้อย ไม่ควรกินกล้วยน้ำว้า ขนมหวาน และนม เพราะทำให้เด็กอ้วน คลอดลำบาก
    ที่ถูกต้องคือ หญิงมีครรภ์ต้องการอาหารเพิ่มเพื่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เช่น โปรตีน นม ซึ่งให้แคลเซียม ผลไม้ วิตามิน เกลือแร่ บำรุงร่างกาย
  5. หญิงหลังคลอดห้ามกินผักบางอย่าง เช่น ผักที่เป็นเถาไม้เลื้อย ตำลึง ฟักทอง เพราะแสลง อาจทำให้มดลูกทะลัก
    ที่ถูกต้องคือ ไม่เป็นความจริง ผักเป็นอาหารที่มีวิตามินและเกลือแร่ สมควรที่จะกิน การที่มดลูกทะลักเกิดจากสาเหตุอื่น ไม่ใช่อาหาร
  6. หญิงหลังคลอดห้ามกินข้าวเหนียว ไข่ เพราะจะทำให้แผลเป็นหนอง
    ที่ถูกต้องคือ ข้าวเหนียวและไข่ ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้แผลเป็นหนอง ข้าวเหนียวเป็นอาหารจำพวกแป้งที่ให้พลังงาน ไข่เป็นอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางอาหารสูง ความจริงการที่แผลเป็นหนองเกิดจากความสกปรก จึงทำให้ติดเชื้อได้
  7. หญิงแม่ลูกอ่อนต้องกินข้าวกับเกลือหรือปลาเค็ม ห้ามกินเนื้อสัตว์หรือผักบางอย่าง เช่น ตำลึง ผักเขียว ผักชี เพราะแสลง จะทำให้เป็นโรคอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว
    ที่ถูกต้องคือ ในหญิงแม่ลูกอ่อนร่างกายต้องการอาหารมากเป็นพิเศษ เนื่องจากต้องผลิตน้ำนมสำหรับเลี้ยงทารกและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ผักต่างๆนั้นให้โปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ นอกจากจะซ่อมแซมร่างกาย ยังช่วยป้องกันโรค ส่วนข้าวกับเกลือให้คาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนใหญ่หรือให้แก่พลังงานเท่านั้น ส่วนปลาเค็มนั้นเรากินได้ในปริมาณน้อย โอกาสที่แม่จะได้โปรตีนจากปลาก็มีน้อยมาก ฉะนั้นจึงไม่ควรอดอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และผัก
  8. สตรีหลังคลอดบุตรควรกินยาดองเหล้าเพื่อช่วยขับน้ำคาวปลา น้ำคาวปลาออกมากเท่าไรยิ่งดี
    ที่ถูกต้องคือ เหล้าซึ่งมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มีปฏิกิริยาทำให้เส้นเลือดขยายตัว ทำให้เลือดออกจากแผลในโพรงมดลูกส่วนที่รกเกาะมากผิดปกติ เพราะฉะนั้นผู้ที่กินยาดองเหล้าจึงมีน้ำคาวปลามาก และบางครั้งออกนานกว่าปกติ ทำให้แม่เสียเลือดมากเกินความจำเป็น และยังทำให้แผลในมดลูกหายช้าอีกด้วย
  9. หญิงหลังคลอดไม่ควรอาบน้ำ
    ที่ถูกต้องคือ การรักษาความสะอาดในระยะหลังคลอดนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะโอกาสที่แม่จะติดเชื้อเนื่องจากแผลไม่สะอาดเกิดขึ้นได้มาก อาจทำให้แผลเป็นหนอง และแผลไม่ติด
  10. หลังคลอดบุตรห้ามลุกเดินเป็นเวลา 1 เดือน
    ที่ถูกต้องคือ หญิงหลังคลอดนั้น ไม่ถือว่าเป็นคนเจ็บป่วย หลังคลอดตามปกติจะให้นอนพักเป็นเวลา 8-12 ชั่วโมง (ในท้องหลัง) หรือ 24 ชั่วโมง (ในหญิงท้องแรก) เมื่อหายเพลียก็สามารถลุกเดินได้ ช่วยเหลือตนเองได้บ้าง ทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติและเป็นผลดีด้วย เพราะจะช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนหลังคลอดได้

 

– ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก : สสส –