4 ข้อเตรียมความพร้อม สาวๆ 35 อัพ หายห่วง มีลูกยาก ไม่ใช่ปัญหา

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/4 ข้อเตรียมความพร้อม สาวๆ 35 อัพ หายห่วง มีลูกยาก ไม่ใช่ปัญหา
4 ข้อเตรียมความพร้อม สาวๆ 35 อัพ หายห่วง มีลูกยาก ไม่ใช่ปัญหา

คู่รักรุ่นใหม่หลายคู่คงเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า “อยากมีเบบี๋..แต่ไม่ใช่ตอนนี้ ขอแฮปปี้กับชีวิตคู่สัก 2-3 ปี ก่อนดีกว่า” แต่พอถึงเวลาที่อยากจะสร้างครอบครัวให้สมบูรณ์ ด้วยการสวมบทบาทเป็นคุณพ่อ คุณแม่ ในวัย 35 พลัส กลับต้องกุมขมับกับปัญหาที่ว่า “พร้อมแล้วแต่ก็ไม่ท้องสักกะที!!” ปัญหาโลกแตกของคู่รักนี้สามารถแก้ไขได้ เพราะด้วยนวัตกรรมการแพทย์ที่ก้าวล้ำออกมาเรื่อยๆ

วันนี้ได้มีโอกาสมาพบกับคุณหมอ นพ.สันธา ศรีสุภาพ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ “อินสไปร์ ไอวีเอฟ” (Inspire IVF) เลยไม่พลาดขออัพเดทความรู้ดีๆ มาฝากคู่รักที่อยากจะมีลูกน้อยใจจะขาดมาฝากกันค่ะ

คุณหมอสันธาได้ให้คำแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพของคู่รักเพื่อการเตรียมตัวมีลูกน้อยว่า ปัจจัยที่จะทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์นั้น จริงๆ ต้องเป็นความสมบูรณ์ทั้ง 2 ฝ่าย คือ ผู้หญิง-ผู้ชาย เพราะสาเหตุของการมีบุตรยากนั้น 40% เกิดจากฝั่งภรรยา 40% เกิดจากฝั่งสามี และ 20% อาจเกิดจากสุขภาพที่ไม่พร้อมของทั้งสองฝ่าย

ซึ่งปัจจัยหลักๆ ที่ส่งผลต่อการมีบุตรยากได้แก่ อายุ เพราะยิ่งอายุมาก ผู้หญิง อาจมีภาวะ ไข่ไม่ตก หรือ ตกแต่ไม่สม่ำเสมอ ไข่ไม่สมบูรณ์ เมื่อปฏิสนธิแล้ว ก็ทำให้ตัวอ่อนไม่แข็งแรง ฝังตัวแล้วหลุด หรือ บุตรในครรภ์มีความเสี่ยงต่อภาวะโครโมโซมผิดปกติ เช่น ดาวน์ซินโดรม ท่อรังไข่อุดตัน หรือโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยในผู้หญิงที่มีบุตรยาก

ส่วนใหญ่ผู้หญิงที่มีปัญหาบริเวณมดลูก มักจะมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ มีอาการปวดท้องผิดปกติ หากมีการตรวจพบแต่เนิ่นๆ มีโอกาสรักษาให้หายและพร้อมจะมีบุตรตามธรรมชาติได้ ผู้ชาย อาจมีความผิดปกติของฮอร์โมน มีผลต่อจำนวน ความแข็งแรง และความสมบูรณ์ของตัวอสุจิ ส่วน ไลฟ์สไตล์ที่สุ่มเสี่ยงต่อระบบเจริญพันธุ์ เช่น การดื่มแอลกอฮอลล์ สูบบุหรี่ หรือแม้แต่การเลือกอาหารการกินที่มีผลเสียต่อร่างกาย เป็นต้น

4 วิธี เตรียมพร้อมก่อนมีลูก

1.ทำสุขภาพให้แข็งแรง

พยายามให้ร่างกายแข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ได้ครบตามชนิดของสารอาหารและความต้องการใช้พลังงานของร่างกาย ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ (ดัชนีมวลกายระหว่าง 18-22.4 ) หากดัชนีมวลกายมากก็ต้องลดน้ำหนัก แต่ถ้าน้อยก็ควรเพิ่ม และควรออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินวันละ 30 นาที เป็นประจำทุกวัน ที่สำคัญควรเลิกสูบบุหรี่ และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์

2.เสริมวิตามิน Folic acid (โฟลิค แอซิด)

เป็นวิตามินบีชนิดหนึ่งที่ร่างกายต้องการ จะช่วยเสริมสร้างกระบวนการผลิตเซลล์ใหม่ให้มีสุขภาพดี ช่วยป้องกันและรักษาโรคโลหิตจาง ซึ่งผู้หญิงที่เตรียมตัวตั้งครรภ์ ควรรับประทาน ผักใบเขียว ไข่ ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน ถั่วแดง แต่หากเป็นคนไม่ชอบผักก็ควรเสริมวิตามินที่มี โฟลิค แอซิด (ขนาด 0.4 มิลลิกรัม ต่อวัน) รับประทานอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโฟลิค แอซิดจะช่วยป้องกันความผิดปกติในระบบสมองและประสาทของทารก อีกทั้งยังมีงานวิจัยใหม่ๆ พบว่า ยังช่วยให้การตกไข่ของผู้หญิงดีขึ้น ดังนั้นโอกาสตั้งครรภ์ก็ง่ายขึ้น

3.เลี่ยงอาหารหวาน อาหารที่มีไขมันสูง

เป็นอาหารที่ผู้หญิงต้องหลีกเลี่ยงในช่วงที่วางแผนว่าจะมีเบบี๋ เนื่องจาก หากทานรสหวานมากๆจะทำให้ควบคุมน้ำหนักตัวได้ยาก ซึ่งมีผลต่อการตกไข่ ส่วนอาหารที่มีไขมันสูง อาทิ เค้ก คุกกี้ ของทอด มักจะมีไขมันทรานส์สูง ซึ่งเป็นไขมันชนิดที่อันตรายสูงสุดเพราะเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL-cholesterol) ซึ่งหากมีในร่างกายมาก ก็จะส่งผลให้หลอดเลือดแดงแข็งและตีบตัน ก่อเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ และปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ควรเลือกไขมันจากปลา จากพืช เช่น ถั่ว โอลีฟ หรือรับประทานอาหารเสริม โอเมก้า 3 และ โอเมก้า 6

4.อย่ากดดัน อย่าเครียด

ภัยเงียบตัวร้ายของสาวๆ ที่เตรียมตัวตั้งครรภ์ต้องระวัง เพราะในบางรายยิ่งเครียดก็ยิ่งทานเยอะ น้ำหนักตัวก็เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการตกไข่ จึงทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก

สำหรับคู่รักที่อายุ 35 ++ หรือ มีคู่ที่อายุ 35 ปีขึ้นไปที่ลองพยายามมีลูกตามธรรมชาติแต่ก็แห้วทุกที..ก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะเดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีที่มาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่ง คุณหมอสันธาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าเทคโนโลยีการแพทย์รักษาด้านมีบุตรยากนั้นมีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุ และ ความต้องการของคู่รักที่เข้ามารักษา ซึ่งสามารถแบ่งหลักๆ ได้ 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มแรก: คู่สามี-ภรรยา ที่พร้อมจะมีบุตร หลังจากได้ตรวจหาสาเหตุที่ไม่มีลูกด้วยกันและแก้ไขแล้ว ทางการแพทย์ก็มีวิธีช่วยให้โอกาสสำเร็จเพิ่มขึ้น เช่น การผสมเทียม โดยการฉีดน้ำเชื้อของสามีในวันที่ไข่ตก และการทำ เด็กหลอดแก้ว (IN VITRO FERTILISATION – IVF) และ อิ๊กซี่ (Intracytoplasmic Sperm Injection – ICSI) ทั้ง 2 วิธี เป็นการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย โดยนำไข่และอสุจิมาทำการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการ เมื่อได้เป็นตัวอ่อนที่แข็งแรงและสมบูรณ์จะถูกย้ายกลับเข้าไปในโพรงมดลูกซึ่งวิธีนี้เหมาะกับคู่รักมีบุตรยากที่รักษาด้วยวิธีเบื้องต้นแล้วไม่ได้ผล น้ำเชื้อไม่สมบูรณ์พอที่จะใช้สำหรับการผสมเทียม หรือกรณีที่ต้องตรวจโรคทางพันธุกรรมตัวอ่อน เช่นแท้งบุตรหลายครั้ง เคยตั้งครรภ์แล้วพบว่ามีโครโมโซมผิดปกติ หรือ มีโรคทางพันธุกรรม เช่น ทาลาสซีเมีย เพราะในเวลานี้สามารถวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของลูกได้ ก่อนที่จะตั้งครรภ์

กลุ่มสอง: คู่สามี ภรรยา ที่ไม่พร้อมที่จะมีบุตร แต่มีแผนในอนาคตว่าจะมีบุตรแน่นอน ซึ่งกลุ่มนี้ คุณหมอสันธา แนะนำให้ฝากตัวอ่อน คือ การนำไข่และตัวอสุจิมาปฏิสนธิ วิเคราะห์ตัวอ่อนแล้วนำไปแช่แข็งเก็บไว้ก่อน ตัวอ่อนที่แช่แข็งนี้ไม่มีวันหมดอายุ สามารถเก็บไว้ได้นานเท่านาน เมื่อมีความพร้อมจะตั้งครรภ์ ก็นำตัวอ่อนที่แช่แข็งไว้มาย้ายกลับ ก็จะได้ลูกที่เกิดตอนที่คุณแม่อายุน้อย ไข่มีความสมบูรณ์เต็มที่

กลุ่มสุดท้าย: กลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีแผนจะมีครอบครัวในอนาคต ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับหนุ่มสาว เนื่องจาก ไข่ และ อสุจิ มีความสมบูรณ์ หากในอนาคตอาจแต่งงานช้า หรือ อยากจะมีบุตรตอนอายุมาก ก็สามารถนำไข่ กับ อสุจิที่เก็บไว้ มาทำ เด็กหลอดแก้ว หรือ อิ๊กซี่ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็จะสูง เนื่องจากคุณภาพไข่ – อสุจิที่เก็บจะคงสภาพตามอายุในขณะนั้น

สำหรับท่านที่ตรวจพบว่าเป็น มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งลูกอัณฑะ หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง (โรคพุ่มพวง) การรักษาโรคกลุ่มนี้พัฒนาไปมาก จนมีโอกาสหาย หรือ ควบคุมความรุนแรงของโรคได้ แต่การรักษามักมีผลข้างเคียงต่อความสมบูรณ์ของไข่ หรืออสุจิได้ กรณีที่วางแผนเรื่องการมีลูกหลังจากการรักษาแล้ว ในเวลานี้ก็สามารถที่จะฝากไข่ อสุจิ แม้กระทั่งตัวอ่อนไว้ก่อนจะเข้ารับการรักษา หลังการรักษาเมื่อพร้อมจะตั้งครรภ์ก็ไม่ต้องกังวล เพราะมีไข่ อสุจิ ตัวอ่อน ที่สมบูรณ์ สำรองไว้แล้ว