ทำความรู้จัก เพื่อนในจินตนาการ เมื่อลูกพูดถึงหรือเล่นกับเพื่อนที่ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง

หน้าแรก/พัฒนาการเด็ก/ทำความรู้จัก เพื่อนในจินตนาการ เมื่อลูกพูดถึงหรือเล่นกับเพื่อนที่ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง
ทำความรู้จัก เพื่อนในจินตนาการ เมื่อลูกพูดถึงหรือเล่นกับเพื่อนที่ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง

ลูกวัยอนุบาล สามารถใช้การพูดเพื่อการสื่อสารอย่างเป็นเรื่องเป็นราวได้ดีขึ้นแล้ว แถมยังเป็นวัยที่สมองน้อยๆ ของพวกเขาเต็มไปด้วยจินตนาการมากมาย ทำให้เรื่องที่เขาเล่าดูเกินจริงไปบ้างในบางครั้ง แต่ถ้าจู่ๆ ลูกพูดถึงเพื่อนหรือบุคคลที่ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง คุณแม่คงตกใจไม่น้อย

ทำความรู้จัก เพื่อนในจินตนา การของลูก

หากลูกพูดถึงเพื่อนที่ไม่มีตัวตนขึ้นมา แถมเล่าได้เป็นเรื่องเป็นราวว่าเพื่อนชื่ออะไร กำลังทำอะไรอยู่ หรือกำลังนั่งอยู่ใกล้ๆ โดยที่คุณแม่ไม่เห็นใคร ไม่มีเพื่อนคนนั้นแถวบ้านหรือในชั้นเรียน คุณแม่อย่าเพิ่งนึกถึงสิ่งลี้ลับ หรือวิตกจนพาลูกไปพบจิตแพทย์นะคะ เพราะนักวิจัยเชื่อว่าการที่เด็กๆ สร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นนั้นเพราะพวกเขายังขาดทักษะด้านการสื่อสารเพื่อให้คนรอบข้างเข้าใจ จึงสร้าง ‘เพื่อนในจินตนาการ’ (Imaginary Friend) ขึ้นมาเป็นเพื่อนคุย ซึ่งเพื่อนในจินตนาการมักจะเข้าใจ คอยปลอบโยน และเป็นเพื่อนเคียงข้างลูกเสมอ ทำให้เขารู้สึกอบอุ่นปลอดภัย ถึงแม้ไม่มีคุณแม่อยู่ใกล้ๆ

ฝึกสื่อสารกับเพื่อนในชีวิตจริง

อีกเหตุผลที่เพื่อนในจินตนาการมักมาในช่วง 3-5 ปี เพราะช่วงวัยก่อน 3 ปี เด็กๆ มักพอใจที่จะใช้เวลาเล่นกับตัวเองหรือกับคุณพ่อคุณแม่ มากกว่าจะเล่นกับเพื่อนหรือพี่น้อง จนกระทั่งเข้าสู่ขวบปีที่ 3 นั่นแหละค่ะที่เขาจะเริ่มรู้จักตอบสนองการเล่นกับผู้อื่น แต่ยังสื่อสารไม่เก่งจึงเลือกที่จะคุยกับเพื่อนที่เขาสร้างขึ้นเองมากกว่า ดังนั้นหากเขาสื่อสารกับเพื่อนหรือบุคคลรอบข้างในชีวิตจริงได้ดีขึ้น บทบาทของเพื่อนในจินตนาการก็จะค่อยๆ ลดลง แล้วหายไปจากชีวิตลูกได้

เรื่องนี้คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจก่อนว่า เวลาที่เขาพูดถึงเพื่อนในจินตนาการ รวมถึงเรื่องต่างๆ ที่เกินจริงนั้นเขาไม่ได้กำลังพูดโกหก แต่มักเกิดจากการที่ บางครั้งคุณแม่ก็ไม่เข้าใจว่าลูกต้องการบอกอะไร และลูกเองก็ยังไม่สามารถอธิบายสิ่งที่ต้องการได้เต็มที่ วัย 3-4 ขวบเป็นช่วงวัยที่พวกเขาควรได้รับความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ ในเรื่องของการใช้คำพูดสื่อสาร ด้วยการพูดคุยกับเขาบ่อยๆ ถามและตอบคำถามของพวกเขา อย่างใส่ใจ จะทำให้สื่อสารกับเพื่อนในชีวิตจริงได้ดีขึ้น

สนุกไปกับจินตนาการ

อย่างที่บอกค่ะว่าการพูดของเด็กๆ ที่ดูเกินจริงนั้น มาจากจินตนาการ หากคุณแม่เข้าใจและร่วมพูดคุยไปกับเขาด้วย เด็กๆ ก็จะได้เพิ่มพูนทักษะด้านการพูดมากขึ้น และการปล่อยให้ลูกได้เล่น พูดคุย เล่าเรื่องตามจินตนาการยังส่งผลดีต่อลูกมากมาย โดยเด็กที่ได้เล่นตามจินตนาการจะเป็นเด็กที่มีความสุขร่าเริง กระตือรือร้นที่จะทำสิ่งต่างๆ และมีความก้าวร้าวน้อย
นอกจากนี้เพื่อนในจินตนาการยังทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าตนเองมีความเข้มแข็ง และมีความมั่นใจมากขึ้นแถมยังเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นด้วยเด็กที่ได้เล่นตามจินตนาการของตนเองบ่อยๆ จะมีทักษะในการคิดและสมาธิดีกว่าเด็กที่ไม่ค่อยมีโอกาสเล่นสมมุติ
แต่ถ้าลูกทำผิดแล้วโทษเพื่อนในจินตนาการ แทนที่จะดุควรค่อยๆ อธิบายให้เขาฟังว่าคุณรู้ว่าใครเป็นคนทำและการกล่าวโทษผู้อื่นเป็นสิ่งไม่ดี หรือหากลูกใช้เพื่อนในจินตนาการเป็นข้ออ้างในการโยกโย้ไม่ทำสิ่งที่คุณแม่บอก เช่น ไม่ยอมเข้านอนเพราะเพื่อนในจินตนาการของเขายังเล่นอยู่ ควรบอกให้เลิกเล่นแล้วเข้านอนพร้อมๆ กัน

บอกลาเพื่อนในจินตนาการ

โดยปกติแล้วเพื่อนในจินตนาการจะหายไปเมื่อเด็กอายุ 5-6 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่พวกเขาสื่อสารกับบุคคลต่างๆ ในชีวิตจริงได้ดีขึ้น และเข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น และแม้เพื่อนในจินตนาการจะเกิดจากการขาดทักษะด้านการสื่อสาร แต่นักวิจัยในนิวซีแลนด์ ได้ตรวจสอบทักษะการใช้ภาษาของเด็กๆ ที่มีเพื่อนในจินตนาการ เมื่อเติบโตขึ้น พบว่า เด็กที่มีเพื่อนในจินตนาการจะมีทักษะในการเล่าเรื่องดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เล่นกับเพื่อนที่เขาสร้างขึ้นเองเสียอีก

ผู้เขียน : ชนาวรรณ์
นักเขียนนิทาน เรื่องสั้น บทความสุขภาพ-พัฒนาการเด็ก